สังคม
แบงก์ไทยเข้าแจงปมร้อน ยันไม่เกี่ยวข้อง หนุนการเงินรบ.เมียนมา
โดย panwilai_c
11 ก.ค. 2567
57 views
คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร เชิญผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา แห่งสหประชาชาติ มาชี้แจงกรณีมีรายงาน ระบุว่า ธนาคารในประเทศไทย ให้บริการทางการเงินกับรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศและสมาคมธนาคารในไทย มาชี้แจงยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและพร้อมจะตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อยืนยันว่าไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน
การประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายรังสิมันต์ โรม เป็นประธาน มีการพิจารณาเรื่องสำคัญที่ได้รับความสนใจจากสื่อต่างชาติ กรณีสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เปิดเผยรายงานอ้างว่า ธนาคารในประเทศไทย เป็นผู้ให้บริการทางการเงินหลัก ให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์
โดยเชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล และมีนายทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชน ในเมียนมา แห่งสหประชาชาติ ในฐานะผู้จัดทํารายงาน มาชี้แจงด้วยตัวเอง
นายทอม กล่าวว่า ขอบคุณที่สภาผู้แทนราษฏรไทยให้ความสำคัญเรื่องนี้ และหวังว่าจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยและนานาชาติ จะพลิกวิกฤตในเมียนมา เพราะ จุดประสงค์ของรายงานฉบับนี้ก็เพื่อหาทางยุติความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งมีพลเมืองเมียนมาถูกสังหารไปจำนวนมาก
การตรวจสอบการจัดงบประมาณในการซื้ออาวุธของรัฐบาลทหาร และการทำธุรกรรมทางการเงินที่มีความเชื่อมโยงกับธนาคารในประเทศไทย โดยรัฐบาลทหารเมียนมาใช้มาตรการที่ซับซ้อน เลี่ยงการตรวจสอบ เช่นการตั้งบริษัทนายหน้าประสานงานธนาคารต่างๆ ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา
ซึ่งในรายงานยังไม่พบหลักฐานว่ารัฐบาลไทยให้การสนับสนุน จึงอยากให้มีการตรวจสอบ เช่นเดียวกับรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ทำการสือบสวนสอบสวนอย่างเร่งด่วน จนไม่พบความเกี่ยวข้องกับการขายอาวุธและธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ ได้เข้มงวดกับการใช้ธนาคารสิงคโปร์อำนวยความสะดวกให้รัฐบาลทหารเมียนมา จนพบว่าการโอนเงินลดลง 90 เปอร์เซ็นต์ นายทอม จึงเสนอแนะให้รัฐบาลเรียกร้องไปยังธนาคารในไทยยุติการอำนวยความสะดวกให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา เป็นวิธีการเดียวที่จะยุติป้องกันอาชญากรรมทางสงครามและมวลมนุษยชาติ
ด้านหน่วยงานราชการของไทยทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า ไม่พบหลักฐานเส้นทางการเงินของธนาคารในประเทศไทย ตามที่ระบุในรายงาน และไม่พบว่ารัฐบาลรับรู้ในเรื่องนี้พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และความเป็นอยู่ของประชาชนเมียนมา ไม่สนับสนุนความรุนแรง และปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติอย่างเคร่งครัด
เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ตัวแทนธนาคารหลายแห่งของไทย ที่เห็นว่าข้อกล่าวหาค่อนข้างรุนแรง ยืนยันว่าธนาคารของไทยไม่สนับสนุนการทำธุรกรรมการเงินเพื่อการซื้ออาวุธมาละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแน่นอน และทุกธนาคารจะมีการตรวจสอบตามรายชื่อบริษัทที่อาจเกี่ยวข้องกว่า 250 บริษัท และจะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบและป้องกันอย่างจริงจัง รวมถึงตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ยืนยันว่าได้ออกประกาศแจ้งให้สถาบันการเงินทราบ ว่าประเทศเมียนมามีความเสี่ยงในการฟอกเงิน และการสนับสนุนการก่อการร้าย ดังนั้นหากจะรับลูกค้า หรือทำธุรกรรมกับประเทศเมียนมา จะต้องมีเอกสารหลักฐานที่น่าเชื่อถือทุกครั้ง และมีกระบวนการตรวจสอบเส้นทางการเงินอข่างเคร่งครัด
ซึ่งภายหลังเปิดให้คณะกรรมาธิการได้ซักถามและมีข้อเสนอแนะ นายรังสิมันต์ โรม ในฐานะประธาน ให้ทางสมาคมธนาคารและธนาคารที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบภายใน 30 วัน โดยย้ำเหตุผลว่าประเทศไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความรุนแรงในเมียนมา โดยเฉพาะการอพยพของผู้ลี้ภัย จึงอยากเห็นรัฐบาลไทยจริงจังกับการสกัดกั้นการเอื้อประโยชน์ให้รัฐบาลทหารเมียนมา
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เข้าร่วมรับฟัง เสนอให้ไทยใช้โมเดลของรัฐบาลสิงคโปร์ในการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด และอยากเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และอยากเห็นนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงนโยบายที่มีต่อเมียนมาด้วย และจะมีการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีด้วย
การประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ วันนี้ยังได้รับความสนใจจากสื่อต่างชาติ ที่ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาด้วย เพราะเป็นเวทีแรกที่หน่วยงานรัฐของไทย เข้าชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา
แท็กที่เกี่ยวข้อง ธนาคารแห่งประเทศไทย ,สมาคมธนาคารไทย ,รัฐบาลเมียนมา ,ทหารเมียนมา