สังคม

iLaw แนะ กกต.รับรองว่าที่ สว.ใหม่ ไม่เกิน 15 วัน - 'อังคณา' เตือน สว.ชุดเดิมระวังถูกมองมีผลประโยชน์ทับซ้อน

โดย parichat_p

7 ก.ค. 2567

28 views

วันนี้ ว่าที่สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่ง จัดสัมมนาในห้อข้อวุฒิสภากับการทำงานร่วมกับองค์กรประชาสังคม ซึ่งผู้จัดการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ในฐานะ วิทยากร ฝากความหวังให้สว.ชุดใหม่ที่จะมีส่วนพิจารณากฎหมายสำคัญ โดยเฉพาะกฎหมายนิรโทษกรรมและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะเดียวกัน ก็ให้ขอให้ กกต.เร่งรับรอง ผลการเลือก สว. ภายใน 15 วัน ขณะที่นางอังคณา นีละไพจิตร เตือน สว.ชุดเดิมให้ระวังจะถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน


นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ระบุว่าการสัมมนาว่าที่สว.ชุดใหม่ มีขึ้นเพื่อให้ความรู้กันและกัน เนื่องจาก มีสว.หน้าใหม่ ที่สมัครมาตามกลุ่มอาชีพ บางส่วนอาจไม่เข้าใจบทบาทงานสว. และงานในสภา รวมถึงนายยิ่งชีพ ซึ่งมีมาเป็นวิทยากรวันนี้ ยังระบุว่ามาทำหน้าที่ในฐานะ กรรมาธิการการ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค ที่ าที่สว.อาจยังไม่รู้รายละเอียดที่ชัดเจน นายชิ่งยีพ ยังระบุว่าเขาฝากความหวังไว้กับ สว. ชุดใหม่ ที่จะมีการพิจารณากฎหมาย สำคัญ


ผู้จัดการไอลอว์ ยอมรับว่ากระบวนการเลือก สว.ที่ผ่านมามีความซับซ้อนและเป็นกฎหมายใหม่ ตามมาด้วยข้อร้อเรียนจึงจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้เวลาตรวจสอบนานขึ้น 5 ถึง 15 วัน แต่ กกต.ก็ควรต้องเปิดเผยว่ามีเป้าหมายจะตรวจสอบให้แล้วเสร็จภาในวันใด โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรเกิน 15 วัน


ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีสว.ชุดเก่า นัดประชุมกันวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ จะทำให้การทำหน้าที่ ของสว.ชุดใหม่ ล่าช้ากว่าเดิมหรือไม่ นายยิ่งชีพ ระบุว่า โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ควร เคลื่อนไหวแล้ว แม้เป็นความหวังดีแต่เชื่อว่าไม่มีผลอะไร เพราะเชื่อว่าการทำงาน ของ กกต. หากล่าช้าก็ไม่น่าเกิน 30 วัน และเมื่อรับรอง สว.ชุดใหม่แล้ว ชุดปัจจุบันก็จะหมดวาระทันที


ขณะที่นางอังคณา นีละไพจิตร ว่าที่ สว. ระบุว่าผู้มาสัมมนาวันนี้ส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มภาคประชาสังคมและ สว.อิสระ ส่วนใหญ่จะอยู่ในลำดับที่ 8-9-10 และนัดรวมกลุ่มกันเองเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ บทบาท หน้าที่ สว. ที่จะสนับสนุนบทบาทของภาคประชาสังคม โดยนางอังคณา เห็นว่าการเคลื่อนไหวของ สว.ปัจจุบันที่นัดประชุมกันวันพรุ่งนี้ เพื่อตั้งกรรมาธิการ ศึกษาการเลือกสว. นั้น ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะควรให้เกียรติว่าที่ สว.ชุดใหม่ ที่รับเลือกมาด้วย พร้อมกับเตือนให้ระวังว่า จะถูกมองว่ามีผลประโยชน์ ทับซ้อนหรือไม่


นางอังคณา ยังตอบคำถามกรณีการร้องเรียนจะทำให้การเลือก สว. เป็นโมฆะหรือไม่นั้น ว่า ต่อให้เลือกใหม่กี่ครั้ง หากยังอยู่ในกติกาเดิม ก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยงคอนเน็คชั่นได้ ขณะที่ข้อสงสัยเรื่องการสัญญาว่า จะให้ซึ่งเข้าข่ายทุจริตนั้น ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจน แม้แต่เรื่องการเขียนโพย ก็มีประเด็นว่าในการเลือกไขว้ ก็ไม่สามารถจำชื่อหรือหมายเลขได้หมด ทำให้บางคนใช้วิธีจด


หนทางที่ดีที่สุดในมุมมองนางอังคณา คือต้องแก้รัฐธรรมนูญ แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ให้มีความโปร่งใส เพราะส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยกับกฎกติกาในการเลือก สว. แต่ที่สมัครเข้ามา ก็เพราะ กติกากำหนดว่าผู้มีสิทธิ์เลือก สว. ต้องสมัครเข้ามาเท่านั้น ซึ่งนางอังคณาเห็นว่านี่เป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คนไม่มีกำลังทรัพย์ ก็ไม่สามารถสมัครเข้ามาใช้สิทธิ์ได้ และประชาชนก็๋ไม่สามารถเลือกคนที่ตนเองอยากให้มาทำหน้าที่ได้อย่างแท้จริง

คุณอาจสนใจ

Related News