สังคม

กกต. มีมติเอกฉันท์ไม่เลื่อนการเลือก สว. ชี้ยังไม่มีเหตุจำเป็น

โดย panwilai_c

7 มิ.ย. 2567

41 views

ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มีมติเอกฉันท์ไม่เลื่อนการเลือก สว. แม้ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณา กฎหมายเลือก สว. 4 มาตราว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่



นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.เปิดเผยผลการประชุม กกต. กรณีที่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณากฎหมายเลือก สว. 4 มาตรา ว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั้น



กกต.มีมติเอกฉันท์ไม่เลื่อนการเลือก สว. เนื่องจากยังไม่มีเหตุจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะทำให้การเลือก สว. ต้องเลื่อนออกไป ทั้งนี้หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้ง กกต.ก็ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัย และ กกต. ไม่กังวลหาก มีการยื่นร้องให้การเลือก สว. ครั้งเป็นโมฆะ เพราะที่ กกต. ดำเนินอยู่จนถึงวันนี้เป็นการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ยืนยันว่า กกต. ไม่ได้ปฏิบัติต่างจากที่กฎหมายกำหนด



ด้าน นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ได้แถลงข่าวยืนยันว่า กกต.จำเป็นต้องการเดินหน้า การเลือก สว. เพื่อให้ได้ สว.200 คน ตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ ซึ่งตามไทม์ไลน์ ในระดับ อำเภอ จะเลือก วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายนนี้ ระดับจังหวัดวันที่ 16 มิถุนายน และระดับประเทศวันที่ 26 มิถุนายน และคาดว่าจะประกาศผลได้ต้นเดือนกรกฎาคม



ส่วนเหตุผล ในการเดินหน้าเลือก สว. ครั้งนี้ คือ

1. ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ในการรับคำร้องว่า ยังไม่ปรากฏความเสียร้ายแรงที่ยากต่อการแก้ไขเยียวยาในภายหลัง

2. ยังไม่มีเหตุจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จนต้องเลื่อน

3. ก่อนบังคับใช้ กฎหมาย เลือก สว. ร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณา ของ ศาลฎีกา /ศาล รธน. /และ กกต. ตามรัฐธรรมนูญมาแล้ว ว่าขัด รธน.หรือไม่

4. การทำหน้าที่ ของ กกต. ตามกฎหมายที่ออกมาโดยชอบของรัฐสภา

5. ถ้ามีเหตุจำเป็นมิอาจหลีกเลี่ยงได้ขึ้นมาในอนาคต กกต. สามารถใช้อำนาจแก้ไขปัญหาได้



ส่วนความไม่ชัดเจนอื่นๆ ที่สังคมตั้งคำถาม เช่น กกต.ตัดสิทธิ์การเลือก สว. ในอำเภอที่มีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียว เพราะไม่สามารถเลือกไขว้ได้นั้น เลขา กกต. กล่าวว่าไม่ได้ตัดสิทธิ์ มีกลุ่มเดียวก็ยังจัดให้มีการเลือก รอบแรกคือ เลือกกันเองภายในกลุ่ม แต่เมื่อผ่านไปรอบ2 คือ รอบเลือกไขว้กลุ่ม แต่ไม่สามารถไขว้ได้ ผู้สมัครก็จะไม่มีคะแนน กระบวนการก็จะจบตรงนั้น



และประเด็นสำคัญ เลขา กกต. ยืนยันว่า ทุกสถานที่เลือก สว. ในแต่ละระดับ จะมีสถานที่สังเกตการณ์ ให้กับกลุ่มองค์กรต่างๆ สามารถเข้ามาสังเกตการณ์ได้



สำหรับคำร้อง 4 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 36 ของกฎหมายเลือก สว. ที่กำหนดให้ผู้สมัคร สว.สามารถมีผู้ช่วยแนะนำตัว ซึ่งผู้ร้องระบุว่าอาจสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในกลุ่มผู้สมัครได้



ส่วนอีก 3 มาตรา คือมาตราที่ว่าด้วยข้อกำหนดการเลือก ระดับอําเภอ/ระดับจังหวัด/ระดับประเทศ ที่ให้ผู้สมัครลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้ หมายความว่าไม่ต้องลงคะแนนให้ตัวเอง แต่ลงคะแนนให้คนอื่นคนละหนึ่งคะแนนได้ ซึ่งผู้ร้องมองว่าผู้สมัครที่ไม่เลือกตัวเองอาจเข้าข่ายถูกจ้างมาให้เลือกผู้อื่น

คุณอาจสนใจ

Related News