สังคม

ยังไม่ได้ข้อสรุป! ดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติด หลังภาคปชช.ยื่นผลศึกษากระทบสุขภาพระยะยาว

โดย panwilai_c

1 มิ.ย. 2567

58 views

ยังไม่ได้ข้อยุติ สำหรับแนวความคิดที่จะผลักดันให้กัญชากลับเป็นยาเสพติดอีกครั้งหลังการปลดล็อคในสมัยรัฐบาลที่แล้ว วันนี้ มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่ม ที่สนับสนุนให้กัญชากลับเป็นยาเสพติด โดยมีการรวมตัวกันของกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการและเยาวชน ยื่นข้อมูลการศึกษาและความเห็นต่อกระทรวงสาธารณสุข ถึงผลกระทบต่อสุขภาพและงบประมาณจากการใช้กัญชา



ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในผู้ เสนอข้อมูลทางการแพทย์ ต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่มีนาย สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทน รับฟังความคิดเห็น เพื่อ ประกอบการพิจารณา การนำกัญชา กลับไปเป็นยาเสพติด



ศ.นพ.มานิต ระบุว่า การใช้กัญชาก่อให้เกิดการเสพติดและส่งผลถึงปัญหาจิตเวช โดยปัจจุบันโรงพยาบาลจิตเวชมีผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้น และในระยะยาวหากมีการใช้กัญชาต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อระดับไอคิวลดลงก่อเกิดโรคจิตเรื้อรังไม่สามารถรักษาได้ โดยที่ผ่านมาคิดว่าปัญหาหลักคือการอนุญาตใช้ช่อดอกที่ไม่มีการควบคุมชัดเจนจึงขอเสนอให้มีการนำทุกส่วนของกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเพื่อยับยั้งการค้าให้ลดลง ลดการเข้าถึงกัญชาของประชาชน



ขณะ ที่ ศ.เกียรติคุณ นพ. สมศักดิ์ โลเลขา กุมารแพทย์ราชวิทยาลัย ให้ข้อมูลถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ ต้องมีแพทย์ควบคุมการใช้ และมีข้อบ่งชี้ชัดเจนเหมือนในหลายประเทศ ซึ่งการใช้ทั่วไปหากไม่ควบคุมก็จะเกิดผลกระทบด้านสุขภาพกับประชาชน



นอกจากนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบที่เพียงพอกับประชาชนทำให้ไม่มีความเกรงกลัวในการใช้กัญชา รวมไปถึงการใช้ส่วนประกอบของกัญชาในการทำขนมและเครื่องดื่ม ยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องปริมาณ ทำให้เกิดเหตุที่มีผู้ได้รับผลกระทบหลังการบริโภค เพราะไม่สามารถกำหนดปริมาณสาร THC ที่มีอยู่ในส่วนประกอบของกัญชาได้ ดังนั้นจึงมีความเห็นสอดคล้องว่าควรนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเช่นเดิม



ด้านการใช้งบประมาณเพื่อการรักษาผู้ป่วยซึ่งได้รับผลข้างเคียงจากการใช้กัญชา ผศ.(พิเศษ) นพ.ปราการ ถมยังกูร สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า ได้ข้อมูลจากแผนกจิตเวชโรงพยาบาลจุฬาฯ มานำเสนอ พบว่าในช่วงปี 2565 - 2566 มีการใช้งบประมาณต้นทุนการรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกัญชาเพิ่มสูงถึง 1.5 -2 หมื่นล้านบาท จากปกติที่เคยมีการรักษาผู้ป่วยและใช้งบประมาณทางการรักษาเพียง 3-4 พันล้าน ซึ่งจากการปลดล็อคกัญชาทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น



ด้านนายพชร ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์ แห่งประเทศไทยในนามภาคีเครือข่ายเยาวชน ซึ่งได้นำเสนอข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจรอบสถานศึกษาในกรุงเทพมหานครพบในระยะ 500 เมตร จากสถานศึกษา มีร้านจำหน่ายกัญชาจำนวนมาก เป็นโอกาสการเข้าถึงกัญชาของกลุ่มเด็กและเยาวชนและเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน



นอกจากนั้นยังมีข้อมูลที่พบว่ากลุ่มเยาวชนที่กระทำความผิด และถูกคุมประพฤติในสถานพินิจ พบความผิดที่กระทำถึงร้อยละ 45 มาจากกัญชา ซึ่งกลุ่มเยาวชนเข้าถึงการหาซื้อได้ง่ายจากสื่อออนไลน์ จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาโทษของกัญชาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนเพื่อแก้ไขให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเช่นเดิม



ซึ่งหลังรับฟังความคิดเห็นนายสมศักดิ์ กล่าวว่าจะนำข้อมูล ทั้งปัญหาด้านสุขภาพ ค่าใช้จ่ายงบประมาณและผลกระทบกับกลุ่มเยาวชน ไปประกอบการพิจารณา การปรับแก้ประกาศของกระทรวงและจะนำไปเป็นข้อมูลเสนอให้กับคณะรัฐมนตรีในการประกอบการพิจารณาเรื่องกัญชาต่อไป



และยอมรับว่า การปรับแก้เรื่องกัญชานั้นต้องมีการพิจารณาหลายภาคส่วน ยังต้องหารือรัฐบาล กลุ่มพรรคการเมืองในการพิจารณาด้วย จึงขอให้ทุกส่วนร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะตนเพียงคนเดียวอาจทำไม่สำเร็จ และยังต้องขอพลังจากทุกคน ทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งตนเพียงคนเดียวอาจทำไม่สำเร็จ



ส่วนเรื่องของยาบ้าห้าเม็ด นั้นทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนไปตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ ในเบื้องต้นแนวโน้มก็เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขวางเป้า โดยในช่วงสัปดาห์หน้าจะมีการสรุปข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน อีกครั้ง

คุณอาจสนใจ

Related News