สังคม

กรมอุตุฯ เผยทั่วไทยร้อนจัดไปอีก 1 สัปดาห์ หลายจังหวัดร้อนทำลายสถิติเดิมมากถึง 37 พื้นที่

โดย panisa_p

29 เม.ย. 2567

68 views

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้เปิดเผยว่า ทั่วไทยจะร้อนจัดไปอีก 1 สัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มมีฝนหลายพื้นที่ ช่วยให้อากาศร้อนน้อยลง แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนช้าในปลายเดือนพฤษภาคม แต่ก็จะไม่ร้อนจัดเหมือนช่วงเดือนเมษายน



นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวผ่านรายการ "คุยรอบด้านกับงานอุตุนิยมวิทยา" ซึ่งเผยแพร่ทางเพจกรมอุตุฯ โดยระบุถึงสาเหตุที่ปีนี้อากาศร้อนมาก เพราะฝนไม่มี ท้องฟ้าเปิด รับแสงอาทิตย์โดยตรง และช่วงปลายเดือนเมษายน มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศไทยต่อเนื่องทุกพื้นที่ ส่งผลให้มีอากาศร้อนจัด



อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา บอกว่า ตอนนี้หลายจังหวัดอากาศร้อนทำลายสถิติเดิมไปแล้วมากถึง 37 พื้นที่ แต่อากาศร้อนที่สุดขณะนี้ ยังไม่ทำลายสถิติอากาศร้อนที่สุดของประเทศไทย โดยสูงสุดที่ 44.6 องศา ที่จ.ตาก เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2566 และที่ แม่ฮ่องสอน 44.6 องศา เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2559



ส่วนสภาพอากาศจะยังร้อนจัด โดยจะร้อนยาวไปถึงวันที่ 3 พฤษภาคม จากนั้นวันที่ 4-8 พฤษภาคม อากาศจะแปรปรวน หลายพื้นที่อาจมีฝนฟ้าคะนอง ลูกเห็บตก อาจจะช่วยคลายร้อนได้ นอกจากยังมีข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ได้พยากรณ์อากาศ



โดยได้อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 29 เม.ย.-8 พ.ค.2567 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป วิเคราะห์ตามผลของแบบจำลองฯ พยากรณ์ว่า ต้องทนร้อนกันไปอีกถึงสิ้นเดือน ยังมีโอกาสที่จะร้อนกว่านี้ได้อีก โดย ช่วงวันที่ 29 เม.ย.- 2 พ.ค. 2567 อากาศยังร้อนและร้อนจัดต่อเนื่อง โอกาสเกิดฝนยังมีน้อย มีบางบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามันและภาคใต้ตอนล่าง ต้องระวังรักษาสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัด ระวังโรคลมแดด หรือท่านที่มีโรคประจำตัว เด็กและผู้สูงอายุ



ช่วงวันที่ 3-8 พ.ค.2567 ลมเริ่มเปลี่ยนทิศทาง เป็นลมตะวันตกตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุม สัญญาณเมฆและฝนเริ่มเพิ่มขึ้นบ้าง โดยเฉพาะทางภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล อากาศที่ร้อนจัดจะเริ่มเย็นลงคลายร้อนลงได้บ้าง หลังจากเริ่มมีฝน เว้นแต่ภาคเหนือ ฝนยังน้อย



ส่วนภาคใต้ยังมีฝนฟ้าคะนองด้านรับลมบริเวณฝั่งอันดามัน ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้สถานการณ์ ปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน ซึ่งทำให้สภาวะทางอุตุนิยมวิทยาเปลี่ยนแปลงไป

คุณอาจสนใจ

Related News