สังคม

เปิดเผยสถิติ 'ไทย' อันดับ 1 มิจฉาชีพโทรหลอกมากสุดในเอเชีย ผู้เชี่ยวชาญร่วมถกแนะวิธีป้องกัน

โดย panwilai_c

2 เม.ย. 2567

65 views

เนื่องในวันตรวจสอบข่าวลวงโลกทุกวันที่ 2 เมษายนของทุกปี โคแฟคประเทศไทยได้เปิดเผยสถิติในปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าไทยอยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่มีมิจฉาชีพโทรหรือส่งข้อความหลอกคนมากที่สุดในเอเชียมากถึง 79 ล้านครั้ง



โดยผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวลวงระบุว่าปัญหานี้ยากต่อการรับมือเพราะรูปแบบการหลอกลวงเปลี่ยนไปทุกระยะ จึงชวนทุกคนร่วมกันใช้เครื่องมือดิจิทัล ตรวจสอบก่อนส่งต่อหรือเผยแพร่ข้อมูล เพื่อสร้างพื้นที่ออนไลน์ให้ปลอดภัย



เวทีเสวนาระดับชาติเนื่องในวันข่าวลวงโลก 2567 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Cheapfakes สู่ deepfakes เตรียมรับมืออย่างไรให้เท่าทัน ได้ยกตัวอย่างข่าวลวงล่าสุดที่เป็นกระแสเมื่อไม่นานนี้อย่างเรื่องหม่าล่าเป็นอาหารอันตราย และถูกส่งต่ออย่างแพร่หลาย โดยไม่ผ่านการตรวจสอบหรือวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถี่ถ้วน จนทำให้สังคมเกิดความหวาดระแวง



นอกจากนี้ในรอบปีที่ผ่านมายังพบเฟคส์นิวส์กรณีข่าวปลอมว่ากัมพูชาฝึกรบกันบริเวณชายแดน เพื่อสร้างกระแสข่าวตีกลับนโยบายของพรรคการเมือง และ ข่าวลวงเรื่องการจัดฉากผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากสงครามในปาเลสไตน์ รวมไปถึงกรณีสายชาร์จดูดเงิน และ แอปพลิเคชันดูดเงิน



แต่ที่น่ากังวลกว่านั้น คือ ข่าวลวงในปัจจุบันมาในรูปแบบของมิจฉาชีพ โดยรายงานประจำปี 2566 ของwhoscall แพลตฟอมระบุตัวตนสายเรียกเข้า เพื่อป้องกันแสปมพบว่า คนไทยโดนหลอกจากสายโทรเข้าและข้อความหลอกลวงมากถึง 79 ล้านครั้ง จากปี 2565 ที่มี 66.7 ล้านครั้ง เฉลี่ยคนไทย 1 คน จะได้รับข้อความหลอกลวง 20.3 ข้อความต่อปี สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์และฮ่องกง



โดยปัจจุบันข้อมูลที่ถูกปล่อยมามีอยู่ 2 รูปแบบ คือ cheapfakes หรือ การหลอกลวงทั่วไป เช่น ข้อความล่อลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์



และข่าวลวงรูปแบบต่างๆ ส่วน DeepFakes คือ การล่อลวงที่มีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอมาเกี่ยวข้อง เช่น การสร้างใบหน้าจำลองขอคนมีชื่อเสียง และ เลียนแบบเสียงได้อย่างแนบเนียน



โคแฟคประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันคนไทยยังถูกมิจฉาชีพหลอกลวงในรูปแบบของชีปเฟคส์ มากกว่า ดีปเฟคส์ สอดคล้องกับ ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ระบุว่าอันดับ 1 ของคดีแจ้งความยังเป็นการถูกหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการ ตามมาด้วยการหลอกโอนเงิน และหลอกกู้เงิน โดยโคแฟคได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนสร้างเครือข่ายตรวจสอบข่าวและข้อมูลในยุคเอไอหรือแฟคเช็คเกอร์ขึ้น เพื่อบริหารจัดการข้อมูลและถ่ายทอดความรู้ให้กับประชาชนทั่วไป



ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมเสวนาทั้งจากภาครัฐ เอกชน และองค์กรสื่อต่างเห็นตรงกันว่าไม่ว่าจะชีปเฟคหรือดีปเฟคก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับเหยื่อได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้ชีปเฟคกลายเป็นดีปเฟคได้ง่ายขึ้น จนแทบจะเป็นสิ่งเดียวกัน



ปัจจุบันประเทศไทยมีเว็บไซต์ของโคแฟคประเทศไทย COFACT.org ไว้ใช้ตรวจสอบข้อมูลข่าวลวงได้ ซึ่งตั้งแต่ปี 2563-2567 ตรวจสอบข่าวลวงไปแล้ว 7672 บทความ ปกป้องผู้ที่เกือบตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้กว่า 5000 คน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลก่อนหลงเชื่อเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงและมิจฉาชีพ

คุณอาจสนใจ

Related News