สังคม

สธ.อีสาน แนะใช้เครื่องมือเก็บสถิติหาสาเหตุอุบัติเหตุ ลดการเสียชีวิต

โดย parichat_p

24 มี.ค. 2567

48 views

สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทยร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดผลวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตให้สอดคล้องกับแผนแม่บทฉบับที่ 5 ผ่านการศึกษาในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการวิจัยนี้อาศัยการเก็บข้อมูลปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่แบบเรียลไทม์เพื่อมาใช้วางมาตรการสู่การแก้ปัญหาที่ได้ผลจริง และสามารถนำโมเดลนี้ไปปรับใช้กับทุกพื้นที่ในประเทศได้


ตัวแทนสำนักงานสาธารณสุขจากพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้นำเสนอเครื่องมือการเก็บสถิติอุบัติเหตุในพื้นที่ของจังหวัด เพื่อนำตัวเลขที่ได้มาวิเคราะห์สาเหตุ ของอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยทั้งหมดนี้จะถูกนำมาใช้ในการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ทุกภาคส่วนเพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตให้สอดคล้องกับเป้าหมายแผนแม่บทฉบับที่ 5 เช่น จังหวัดอุดรธานี ที่พบสาเหตุของปัญหาจากการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์


การวิจัยนี้ทุกพื้นที่ได้นำข้อมูลสถิติอุบัติเหตุย้อนหลังตั้งแต่ปี 2561-2566 มาใช้ประกอบการดำเนินมาตรการ เพื่อเก็บผลลัพธ์ข้อมูลสารสนเทศในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ถึง มิถุนายน 2567 มาใช้ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการให้สอดคล้องกับบริบทและปัญหา ทั้ง 7 จังหวัด ในเขตพื้นที่สุขภาพที่ 8 ประกอบด้วย จังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย นครพนม เลย บึงกาฬ และสกลนคร โดยพัฒนารูปแบบจำแนกความเสี่ยง ทั้งคน สิ่งแวดล้อม ถนน ยานพาหนะ และกิจกรรมในชุมชน เพื่อลำดับความสำคัญ จากนั้นจึงกำหนดกลไกจัดการในระดับเขตและพื้นที่ให้สอดคล้องกัน เพราะแต่ละแห่งมีสาเหตุและบริบทต่างกันจึงต้องเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม จึงจะเกิดประสิทธิภาพ



ความร่วมมือที่เกิดขึ้นทำให้เกิดนวัตกรรมบูรณาการข้อมูลเวชระเบียนอิเลกทรอนิกส์จากโรงพยาบาล 931 แห่ง แบบเรียลไทม์ ร่วมกับข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน สู่การพัฒนานวัตกรรมการพยากรณ์อุบัติเหตุ และความเสี่ยงล่วงหน้าได้ ด้วยข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำไปจำแนกความเสี่ยง ที่จะเกิดอุบัติเหตุให้กับประชาชนทั้งเขต และ ช่วยสอบสวนอุบัติเหตุแบบวันสตอป สู่กลไกการจัดการอุบัติเหตุใรระดับเขต จังหวัด และพื้นที่ ในการกำหนดยุทธศาสตร์ได้


นายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย หัวหน้าโครงการ ระบุว่า มีสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ บริบทของอุบัติเหตุมักเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไปตามยุคสมัย ดังนั้นจึงควรอัปเดตข้อมูลตลอดเวลา เพื่อการปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสาเหตุ เพราะปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนสามารถจัดการได้ เพียงใช้ข้อมูลและเครื่องมือการเรียนรู้ให้เหมาะสม


แผนแม่บทความปลอดภัยบนท้องถนนฉบับที่ 5 เป็นแผนระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2565 - 2570 โดยตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้เหลือ 12 คนต่อประชากร 1 แสนคนภายในปี 2570 โดยช่วงปปี 65-66 ที่ผ่านมา พบอัตราผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงจากช่วง ปี 2560-2565 โดยงานวิจัยนี้ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ต้องการขับเคลื่อนผลงานสู่การนำไปใช้จริง ถ่ายทอดสู่ภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและสร้างความปลอดภัยอย่างยั่งยืนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

คุณอาจสนใจ