สังคม
เลขาฯ ป.ป.ส.ย้ำยาบ้า 5 เม็ด เป็นการแก้ปัญหาตรงจุด ชี้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและหลักวิชาการ
โดย panisa_p
11 มี.ค. 2567
127 views
วันนี้ยังมีความเคลื่อนไหวถึงประเด็นการแก้ไขกฎกระทรวงเรื่องการครอบครองยาเสพติดไม่เกิน 5 เม็ด โดยนายแพทย์ชลน่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่กังวล ที่ พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ จะไปร้องเรียน กกต. ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะที่เลขาธิการ ป.ป.ส.ยืนยันกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้แน่นอน ซึ่ง พลตำรวจตรีวิชัย ก็ได้แสดงความเห็นโต้กลับ พร้อมย้อนถามว่าจะแก้ปัญหานักโทษล้นคุกได้อย่างไร ในเมื่อสถานบำบัดยาเสพติดที่ได้มาตรฐานยังไม่มีในประเทศ
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไม่มีความกังวลใจ ต่อกรณี ที่พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ อดีต รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เตรียมยื่นหนังสือถึงกกต.เพื่อ ถอดถอน นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยนายแพทย์ชลน่าน ระบุว่า เป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายทุกอย่าง โดยไม่มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ
ส่วนเรื่องการจะถอดถอน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ให้เป็นอำนาจของรัฐธรรมนูญ โดยพร้อมชี้แจงในทุกกรณี ที่พลตำรวจตรีวิชัย ยื่นเรื่องร้องเรียนสำนักงานผู้ตรวจราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะในประเด็นการออกกฎกระทรวงขัดเจตนารมย์ของกฎหมาย ซึ่งเจตนารมย์ของกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้ถือครองเพียงเล็กน้อย สามารถสมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดได้ โดยไม่ตกผู้ต้องหา
ขณะที่พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ไม่ขอให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับการยื่นให้ตรวจสอบกฎหมายดังกล่าว เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่ influencer แต่ก็สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นต่างๆ ร่วมได้ เลขาธิการ ป.ป.ส. ย้ำว่า การแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิธีการนี้ถือว่าตรงจุด และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้มีผู้ค้ารายย่อยเพิ่มตามชุมชนอย่างแน่นอน
ส่วนผู้ที่ครอบครองยาบ้า 5 เม็ด ก็ยังคงมีความผิดตามกฎหมาย แต่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้เสพ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้สมัครใจเข้ารับการบำบัด ซึ่งจะไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย แต่หากไม่สมัครใจเข้าร่วม ก็ยังคงมีความผิดฐานครอบครองยาเสพติด ดังนั้นสิ่งสำคัญหลังการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ คือ การให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้เสพได้รับการบำบัดอย่างถูกวิธี ลดปัญหาความคลุ้มคลั่งของผู้เสพภายหลังกระบวนการบำบัด
ด้าน พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ อดีต รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้โต้กลับต่อความเห็นในข้างต้น โดยระบุว่า แม้จะเห็นด้วยกับแนวนโยบายที่กำหนดให้ผู้เสพไม่เท่ากับผู้ป่วย แต่การกำหนดว่าใครเป็นผู้เสพนั้น ไม่ควรกำหนดปริมาณของยาเสพติด เพราะมองว่าจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าเดิม และ เป็นการส่งเสริมการครอบครองยาเสพติดโดยภาครัฐ นี่จะเป็นช่องโหว่ของกฎกระทรวงฉบับใหม่ ที่ผู้กระทำความผิดจะนำมาใช้ต่อสู้ให้ตัวเองรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีได้ จากการอ้างว่ามีไว้เพื่อเสพและเลือกสมัครใจเข้ารับการบำบัด จึงควรคงไว้ซึ่งกระบวนการสืบสวนสอบสวน เพื่อเอาผิดในข้อหาจำหน่าย ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวนั้น ยืนยันได้ว่าไม่มีผู้ต้องหารายใดยอมรับสารภาพ ว่ามีไว้เพื่อจำหน่ายอย่างแน่นอน
นอกจากนี้การที่ภาครัฐอ้างถึงการแก้ปัญหานักโทษล้นเรือนจำ และ ให้โอกาสแก่ผู้ที่เสพยาเสพติดนั้น เป็นแค่ถ้อยคำที่สวยหรู เพราะอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลความชัดเจนในจำนวนของผู้ที่ได้รับการบำบัดจนหายว่ามีกี่ราย และสถานบำบัดยาเสพติดที่ถูกต้องมีอยู่ที่ใดบ้าง เนื่องจากข้อมูลเบื้องต้น พบว่าระบุไว้ 113 แห่ง แต่เป็นแค่สถานที่รับยาไปบำบัดเอง
อีกทั้งยังไม่รวมถึงนโยบายการใช้สถานที่ศูนย์กลางของชุมชน เช่น วัด เป็นที่บำบัด ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่ช่วยให้ผู้เสพเลิกยาได้จริง เพราะจากตามหลักแล้ว สถานบำบัดที่ถูกต้อง ควรเป็นสถานที่ขนาดใหญ่ ห่างไกลจากชุมชน และมีแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ที่ผ่านมายังไม่มีสถานที่ใดเข้าข่ายเงื่อนไขดังกล่าว จึงเกิดปัญหาผู้ที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วกลับมาติดยาซ้ำ จนเป็นปัญหาสังคม พล.ต.ต.วิชัย ยืนยันว่าจะต่อสู้กับกฎกระทรวงฉบับนี้ต่อไป และพร้อมไปดีเบตกับทุกหน่วยงาน ทั้ง ป.ป.ส. และกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับประเด็นเรื่องของยาเสพติด
แท็กที่เกี่ยวข้อง ยาบ้า ,มาตรฐานสากล ,เลขป.ป.ส. ,แก้ปัญหายาบ้า ,หลักวิชาการ