สังคม

'สมเด็จพระธีรญาณมุนี' เผยแผ่พระศาสนาจาก 'อินเดีย'สู่ 'ศรีลังกา' จัดอุปสมบท 'สยามวงศ์ 1' วันที่ 7-14 มี.ค.นี้

โดย nut_p

11 มี.ค. 2567

338 views

เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีพระอุปัชฌาย์และนาคจากประเทศไทย ไปทำพิธีบรรพชาอุปสมบท ที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเถรวาทนิกายสยามวงศ์เหมือนกัน โดยทั้งสยามวงศ์ และลังกาวงศ์ ต่างเป็นญาติธรรมมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ได้ทำโครงการนี้ขึ้นในชื่อ สยามวงศ์ 1 โดยพระกิตติ สิงหาปัด หรือกิตติกโรภิกขุ ได้ร่วมบรรพชาอุปสมบท ในโครงการนี้ด้วย



เสียงคำขอบรรพชาอุปสมบท ไม่เพียงเปล่งออกจากความตั้งใจของผู้ปวารณาตนจะสืบทอดพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ของการอุปสมบทหมู่ ที่พระอุปัชฌาย์และผู้จะอุปสมบทเดินทางจากประเทศไทย มาทำพิธีบรรพชาอุปสมบท ที่วัดคงคาราม เมืองโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา



การบรรพชาอุปสมบทหมูที่ประเทศศรีลังกา ครั้งนี้ เป็นความตั้งใจของสมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำกุลบุตรผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไปบวชที่ประเทศอินเดีย ในโครงการ ชื่อวปก. หรือวิทยาลัยป้องกันกิเลส รวม 27 รุ่น มีผู้เข้าอุปสมบทมาแล้วทั้งหมด 2,600 รูป โดยพระสมเด็จพระธีรญาณมุนี นั่งเป็นพระอุปัชญาย์เองทุกรูป



กระทั่งตอนนี้ที่ดำริให้ขยายการเผยแผ่การอุปสมบทในพระพุทธศาสนาสายสยามวงศ์แบบธรรมยุติ มาที่ประเทศศรีลังกา จึงจัดพิธีบรรพชาอุปสมบทที่นี่ โดยเรียกผู้มีศรัทธารุ่นแรกนี้ว่า วปก.สยามวงศ์ 1 หรือวิทยาลัยป้องกันกิเลศ สวยามวงศ์ รุ่นที่ 1 มีผู้ประสงค์เข้าบรรพชาอุปสมบทรวม 47 คน



สถานที่ประกอบพิธีบรรพชา อยู่ในบริเวณที่เรียกว่าวิหารของวัดคงคาราม แต่สถานที่ประกอบพิธีอุปสมบทจากสามเณรเป็นพระภิกษุ ได้มีขึ้นที่อุทกุกเขปสีมา หรือสีมาน้ำ หรือคนทั่วไปเรียกว่า พระอุโบสถกลางน้ำ



ตามหลักพระวินัยในพุทธศาสนา สถานที่ที่จะทำสังฆกรรมต้องมั่นใจว่าเป็นที่ของสงฆ์ เช่น หากทำสังฆกรรมบนผืนแผ่นดิน ต้องเป็นสถานที่ที่พระเจ้าแผ่นดินอุทิศที่บริเวณนั้นเป็นของสงฆ์ จึงเรียกว่า วิสุงคามสีมา หรือบริเวณที่แยกขาดจากบ้านเรือน



แต่หากทำสังฆกรรมในพื้นที่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นแพ หรืออาคารกลางน้ำ ก็ต้องมั่นใจว่าบริเวณนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ โดยอาคารสิ่งปลูกสร้างนั้นต้องอยู่ห่างจากผืนดินในระยะที่ไม่ให้ผู้ชายสามารถวักน้ำด้วยมือแล้วสาดไปถึงได้



สมเด็จพระธีรญาณมุนี ดำริให้ตรวจสอบและดำเนินการจนแน่ชัดแล้วว่าอุโบสถกลางน้ำวัดคงคาราม มีลักษณะถูกต้องครบถ้วนตามพระธรรมวินัย โดยเฉพาะให้ช่างตัดส่วนที่เชื่อมกับสะพานให้ขาดจากกันเพื่อไม่ให้เชื่อมต่อกับผืนแผ่นดิน จึงทำให้สังฆกรรมบนอุทกุกเขปสีมา หรือพระอุโบสถกลางน้ำที่วัดคงคารามแห่งนี้ ถูกต้องครบถ้วนตามพระธรรมวินัย



อย่างไรก็ตาม พระวินัยกำหนดให้อุปสมบทได้ครั้งละ 3 รูป แต่ผู้เข้าอุปสมบทมีถึง 47 รูป จึงต้องเข้าพิธีรอบละ 3 รูป รวม 16 รอบ โดยสมเด็จพระธีรญาณมุนี นั่งเป็นพระอุปัชฌาย์ทั้ง 16 รอบ ใช้เวลาตั้งแต่ 13 นาฬิกา ถึง 17นาฬิกา จึงบรรพชาอุปสมบม พระสงฆ์ไทยในโครงการสยามวงศ์ 1 ครบถ้วนสมบูรณ์



ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดคงคาราม แสดงความยินดีอย่างยิ่งที่คณะสงฆ์ไทย มาประกอบสังฆกรรมในเสมากลางน้ำ เพื่ออุปสมบทครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นการสานสัมพันธ์เมื่อครั้งที่พุทธศาสนาในลังกา ถูกคุกคามอย่างหนักจนไม่มีพระภิกษุ และไม่มีพระอุปัชฌาย์ที่จะอุปสมบทให้ผู้ปราถนาจะบวช กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยอยุธยาตอนปลาย ส่งพระอุบาลีเถระ จากพระนครศรีอยุธยา เป็นพระธรรมฑูตชุดแรกมาที่ลังกา หรือประเทศศรีลังกา เพื่อเป็นอุปัชฌาย์จนการบรรพาอุปสมบทในศรีลังกากลับมาแพร่หลายขึ้น และเป็นที่รับรู้ว่า นั่นคือนิกายสยามวงศ์



โครงการบรรพชาอุปสมบท สยามวงศ์ 1 ที่ศรีลังกา มีขึ้นระหว่าง 7-14 มีนาคม โดยเช้าวันที่ 15 มีนาคม จะมีพิธีลาสิกขา ที่วัดเทพศิรินทราวาส แต่ระหว่างที่ยังอยู่ในศรีลังกานี้ จะจาริกไปสักการะและศึกษาพุทธศาสนสถานสำคัญในศรีลังกา ซึ่งปรากฏหลักฐานถึงความเป็นญาติธรรมของลังกาวงศ์และสยามวงษ์ตั้งแต่สมัยพระนครศรีอยุธยา ถึงกรุงรัตนโกสินทร์

คุณอาจสนใจ