สังคม
'ชัยวัฒน์' มั่นใจ ส.ป.ก.ทับซ้อนเขาใหญ่ ลั่นไม่เถียงกรมแผนที่ทหาร ขอเจอกันที่ศาล
โดย panwilai_c
28 ก.พ. 2567
145 views
ปัญหาพิพาทแทนเขตส.ป.ก.กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ดูเหมือนว่า เมื่อวานนี้ทำท่าว่าจะได้ข้อยุติแล้ว ตามที่กรมแผนที่ทหารชี้แนวเขต ที่ปักหมุดว่า เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน แม้ว่า จะยอมรับว่า สภาพพื้นที่จะเป็นป่าเพราะถูกทิ้งร้างไม่มีการทำประโยชน์ จนกลับเป็นสภาพป่า ทางรัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ย้ำว่า จะกันพื้นที่ดังกล่าวเป็นแนวกันชน ห้ามออกส.ป.ก.หรือจัดสรรให้แก่ราษฎร
จนวันนี้ปรากฏว่า คณะกรรมาธิการ 2 คณะ เชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เข้าชี้แจงเขตพิพาท ปรากฎว่า กรมอุทยานและกรมแผนที่ทหาร อ้างอิงข้อมูลและกางแผนที่ชี้เขตไม่ตรงกัน นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ก็ประกาศไม่ยอมรับแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร และขอให้ไปจบที่ศาล
ในการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อพิพาทที่ดินส.ป.ก. ทับที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
โดยนายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ชี้แจงว่าการจัดทำวันแมพ (ONE MAP)ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ได้สำรวจพื้นที่ครบทั้งหมดแล้วยกเว้นเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ดึงออกมาทบทวน เนื่องจากมีข้อร้องเรียนโดยอ้างว่าพื้นที่อยู่นอกเขตอุทยาน และขอให้ตรวจสอบการแบ่งเส้นแนวคิดอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งทางอนุกรรมการจัดทำวันแมพ ได้ไปตรวจสอบเส้นแบ่งแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทั้งหมด ในพื้นที่ 4 จังหวัด กว่า 1 ล้าน 3 แสนไร่ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนตั้งแต่ 1 มีนาคม 2566
ซึ่งมีการพิจารณาข้อตกลงที่กรมอุทยานทำกับ ส.ป.ก. ในกรณีพื้นที่ที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้ ส.ป.ก.และมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินก่อนกรมอุทยานให้ใช้แนวเขต ส.ป.ก.เป็นหลัก ยกเว้นพื้นที่ที่ไม่สมควรในการปฏิรูปที่ดิน ให้ยึดแนวเขตของกรมอุทยานเป็นหลัก ซึ่งคณะกรรมการวันแมพพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้วพบว่าเส้นแบ่งเขตที่กรมแผนที่ทหารจัดทำมีอยู่ก่อนแล้ว ถือว่าเป็นที่ ส.ป.ก. แต่อาจไม่เข้าคุณสมบัติการจัดสรรที่ดิน
พร้อมยอมรับว่าการจัดทำแผนที่วันแมพ ยึดตามแผนที่แต่ละหน่วยงานที่ส่งมา จึงอาจมีความคลาดเคลื่อน เพราะอัตราอาจไม่เท่ากัน จึงต้องยึดหลักตามกฎหมายว่าจะต้องเป็นของใคร ซึ่งในกรณีอุทยานแห่งชาติ ตอนนี้ก็ต้องยึดตามแนวเขตของกรมแผนที่ทหาร เพราะมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายทางอากาศที่พบร่องรอยเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ ก่อนปี 2530
ขณะที่ นายวีระยุทธ์ วรรณเลิศสกุล ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชี้แจงว่า กรมอุทยานฯ หรือกรมป่าไม้ในขณะนั้น ได้ทำการร่างวัดแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตั้งแต่ปี 2502 ก่อนจะจัดทำเป็นแผนที่ในอัตรส่วน 1 : 250,000 ซึ่งเป็นอัตราส่วนแบบหยาบ เพื่อให้สามารถแนบท้ายพระราชกฤษฎี 2505 ได้ และใช้แผนที่นี้ในการดำเนินคดีผู้ลุกล้ำอุทยานมาโดยตลอด ซึ่งมีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา ตามแผนที่ดังกล่าว และแม้ว่าพื้นที่พิพาทจะอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ ก็ไม่สามารถจัดสรรให้ชาวบ้านได้ตามข้อตกลง เอ็มโอยูระหว่างอุทยานแห่งชาติ และ ส.ป.ก.เนื่องจากเป็นป่าอุดมสมบูรณ์
จากนั้น กรมแผนที่ทหารได้นำแผนที่ที่เป็นแผ่นกระดาษ มากางชี้แจงอธิบายไล่ทีละแผ่น ส่วนหนึ่งเป็นหลักฐานชุดเดียวที่ชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมโชว์ภาพถ่ายลักษณะการเข้าไปทำเกษตรกรรม จึงขอยืนยันในแนวเขตที่จัดทำว่าอาจจะเป็นแนวที่ถูกต้อง เพราะได้ยึดตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีก 2505 แต่แนวเขตที่กรมอุทยานนำมาแสดงว่ามีการทำแนวกันไฟ ทำถนน อยู่นอกเขตของกรมแผนที่ทหาร
นายชัยวัฒน์ ยืนยันว่าการจัดทำแผนที่ของกรมอุทยานฯถูกต้อง และไม่ยอมรับแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร เว้นแต่จะมีการประกาศวันแมพ ออกมา และไม่ขอเถียงกับกรมแผนที่ทหาร หากไม่ได้ข้อยุติ คงต้องไปเจอกันที่ศาล ในกระบวนการยุติธรรม
ทางด้านนายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ทั้ง 2 หน่วยงานยังโต้เถียงกันเรื่องแนวเขต ซึ่งกรมอุทยานฯ ไม่ยอมรับแนวเขตตามที่กรมแผนที่ทหารส่งให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี แต่ยังยืนยันแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกา ปี 2505 ขณะที่ทาง ส.ป.ก. เองก็ยึดแนวเขตตามกรมแผนที่ทหาร ดูอย่างนี้แล้ว ก็คงไม่จบ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลงไว้