สังคม

พรุ่งนี้! นายกฯ ลงพื้นที่ชายแดนใต้ในกิจกรรมเที่ยวใต้สุดใจ ควบคู่การพูดคุยเสนอกฎหมายเพื่อสันติภาพ

โดย parichat_p

26 ก.พ. 2567

45 views

ตั้งแต่วันที่ 27 ถึง 29 กุมภาพันธ์นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในกิจกรรมเที่ยวใต้สุดใจ ก่อนจะครบรอบ 11 ปีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ภาคประชาชน คาดหวังให้นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับปัญหาความมั่นคงด้วย โดยจะมีการเสนอกฎหมายสันติภาพเป็นแนวทางสำหรับการพูดคุยด้วย


พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และพันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานเปิดการแข่งขันเชิดสิงโตบนเสาดอกเหมยนานาชาติ ที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอหนี่ยว อ.เมือง จ.ปัตตานี ถือเป็นงานเทศกาลประจำปี ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนจีน ที่เป็นอัตลักษณ์วัฒนธรรมหนึ่งของชาวปัตตานี โดยเฉพาะในย่านชุมชนจีนกือดาจีนอ เป็นชุมชนโบราณริมแม่น้ำปัตตานี จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียด้วย และในช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวมามากทำให้มีความคึกคัก สร้างบรรยากาศสันติสุขในพื้นที่ได้มาก และต้อนรับการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในกิจกรรมเที่ยวใต้สุดใจด้วย


พันตำรวจเอกทวี เปิดเผยว่าในการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี จะมีการเสนอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วย เช่นรถไฟรางคู่ เชื่อมการขนส่งของประชาชนด้วย


เลขาธิการ ศอบต.กล่าวว่า การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี จะไปทั้งจังหวัดปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และจ.นราธิวาส ซึ่งจะเปิดมุมมองว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยเที่ยวได้ ควบคู่กับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ


ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่พบว่า มีการยกสิ่งกีดขวาดที่ด่านตรวจความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และเส้นทางที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทาง ซึ่งเดิมจะมีการตั้งบังเกอร์ แผงกั้น วิ่งได้ช่องทางเดียว แต่ยังมีกล้องวงจรปิด และจะกลับมาตั้งใหม่หลังนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับ พ.อ.เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่าการยกเลิกด่านตรวจต่างๆ เป็นไปตามนโยบายของเเม่ทัพภาค 4 ที่ได้ดำเนินการมาประมาณ เกือบ 2 สับดาห์เเล้ว สอดคล้องกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งจะปรับลดให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความปลอดภัยของประชาชน


ก่อนจะครบ 11 ปีการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งเริ่มจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 มีการทำฉันทามติกับขบวนการบีอาร์เอ็น ก่อนจะล่มลงเพราะการรัฐประหารในปี 2557 และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มพูดคุยรอบใหม่กับกลุ่มมาราปาตานี ในปี 2558 และเปลี่ยนกลับมาเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็นในปี 2562 จนล่าสุดในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้มีการเดินหน้าแผนปฏิบัติการสันติสุข ซึ่งจะมีการหยุดยิง ปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง ในเวทีเสวนา ชุดกฏหมายสันติภาพ ชายแดนใต้/ปาตานี ทบทวน ท้าทาย ที่ทาง


ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เห็นว่า การพูดคุยยังจำเป็นและไม่อยากให้ล่มลงเพราะการเปิดเผยเอกสาร JCPP จนนำมาซึ่งการวิจารณ์ว่าจะทำให้รัฐไทยเสียเปรียบในการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ ซึ่งดร.รุ่งรวี เห็นว่าอาจเป็นไปได้ยาก เพราะกรอบการพูดคุยกำหนดให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และอาจไม่เหมาะกับพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้


ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เห็นด้วยว่าแม้การพูดคุย 11 ปีที่ผ่านมา จะไม่คืบหน้า แต่ก็มีจุดเปลี่ยนสำคัญที่การพูดคุยระหว่างรัฐไทยและบีอาร์เอ็นในแผน JCPP ทั้งสองฝ่ายยอมรับความเป็นชุมชนปาตานีและอยู่ภายใต้รัฐเดี่ยวของไทยตามรัฐธรรมนูญ


นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้ประสานงานคณะสันติภาพภาคประชาชน หรือ คปส. นำเสนอหลักการ พรบ.สันติภาพที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการ และนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพูดคุยเพื่อสันติภาพเพราะต้องได้รับการยอมรับจากฝ่ายบริหารให้เป็นวาระแห่งชาติด้วย


วงเสวนาของภาคประชาสังคม และ สส.ในพื้นที่ยังคาดหวังบทบาทของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เพียงกฏหมายสันติภาพแล้ว ยังต้องแก้ไขกฏหมายพิเศษที่เป็นอุปสรรคในพื้นที่ด้วย รวมถึงอยากให้นายกรัฐมนตรีที่จะมากระตุ้นการท่องเที่ยวไม่ลืมว่าปัญหาสำคัญของที่นี่คือการสร้างสันติภาพ


ขณะที่นายบูรฮัน ติพอง คณะกรรมาธิการฯสันติภาพ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยกำลังเสนอร่าง พ.ร.บ.สันติภาพด้วย และอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด แม้มองว่าประชาชนยังไม่เชื่อว่าการเจรจาจะทำให้จบ แต่ต้องสร้างบรรยากาศที่ดี จึงพร้อมเสนอกฏหมายในนามประชาชนปาตานี และหวังว่าการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี จะเห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

คุณอาจสนใจ

Related News