สังคม

ลงพื้นที่ตรวจรูปแปลง ส.ป.ก.ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพญาเย็น

โดย panisa_p

26 ก.พ. 2567

192 views

กรณีพบหมุด ส.ป.ก. ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีสองพื้นที่ ในฝั่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเจ้าหน้าที่แกะรอยรถไถและรถแบ็คโฮ ที่ไปแผ้วถาง พบว่าเชื่อมโยงกับอดีตพนักงานราชการป่าไม้ ซึ่งมีบ้านพักที่ตำบลกลางดง เมื่อสำรวจที่ตำบลกลางดง ก็พบหมุด ส.ป.ก.ปักขึ้นไปบนเขาที่เต็มไปด้วยโขดหิน โดยกรมป่าไม้อยู่ระหว่างรอคำตอบจาก ส.ป.ก. อย่างไรก็ตาม ข่าว 3 มิติ พบเชฟไฟล์ หรือรูปแปลงจากฐานข้อมูล ของ ส.ป.ก. ที่เชื่อได้ว่า บริเวณนั้นและใกล้เคียง สำรวจและออก ส.ป.ก.ไปแล้วหลายแปลง คุณมนตรี อุดมพงษ์ มีรายละเอียดครับ



ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงนี้อยู่ที่หมู 8 บ้านหนองเครือคต ต.กลางดง อำเภอปากช่อง เป็นแปลงเดียวกับที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยาน กรมอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 8 นครราชสีมา จากกรมป่าไม้ เข้าตรวจสอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่ทั้งกรมอุทยานฯและกรมป่าไม้สงสัย ก็เพราะเหตุใดผืนป่ามีร่องรอยแผ้วทาง ต้นสีเสียดแก่น ถูกตัด และเหตุใดมีหมุด ส.ป.ก.ปักอยู่บนโขดหิน ที่อยู่สูงขึ้นไปกว่าพื้นถนนมาก



การลงพื้นที่ของกรมป่าไม้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แม้จะพบหมุด ส.ป.ก.ก็จริง แต่จะไม่ถอนหมุดออกไป และได้ทำหนังสือถามไปยัง ส.ป.ก.นครราชสีมาว่าหมุด ที่เห็นนั้นเป็นของ ส.ป.ก.จริงหรือไม่ เนื่องจากลักษณะการวางหมุดไม่หนาแน่น ไม่ใช่การฝัง เป็นแต่เพียงการวางตามโคนต้นไม้ที่ผิดวิสัยการวางหมุด ส.ป.ก.ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายหมุดได้



การจับพิกัดของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พบพื้นที่ 14-2-7 ไร่ อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพญาเย็น และพบการแผ้วถางต้นไม้ขนาดเล็กเนื้อที่ 7-2-11 ไร่ ในเขตสวนป่ากลางดง และพบการขุดสระลึก 1-2-5ไร่ เรียงหินขนาดใหญ่เป็นขอบสระ ที่ขอบแปลงด้านตะวันตกเฉียงเหนือ พบหมุด ส.ป.ก. 1 แปลง



เจาหน้าที่ยึดพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกรวม 22-0-18 ไร่ และแจ้งความให้ตำรวจภูธรกลางดง สืบสวนเอาผิดตาม พรบ.ป่าไม้ ควบคู่ไปกับการสอบถามจาก ส.ป.ก. อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ของข่าว 3 มิติ ในแปลงดังกล่าว ได้รับการยืนยันจากผู้ใหญ่บ้านหมู 8 มาแล้ว ว่ามีการสำรวจ รังวัด ชี้แนวเขต และออกเอกสาร ส.ป.ก.แล้วจริง แต่มายืนยัน แนวเขตเฉพาะแปลงด้านหน้าของบ้านพัก เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นมาตรวจถึงเขตป่า



แม้จะรู้ข้อเท็จจริงแต่กรมป่าไม้ยังต้องรอคำตอบอย่างเป็นทางการจาก ส.ป.ก.นครราชสีมา กรณีการออก ส.ป.ก.ในแปลงดังกล่าว แต่ระหว่างนี้ ข่าว 3 มิติ พบเชฟไฟล์ หรือรูปแปลงการออก สปก. จากฐานข้อมูลของ สปก.เอง ซึ่งในกรอบสีแดงนั้นคือแปลงบ้านหนองเครือคต ที่เป็นประเด็นนี้อยู่ตอนนี้



ข่าว 3มิติ นำไฟล์มาเปรียบเทียบกับภาพเก่าย้อนหลังแต่ละปี เริ่มจากปี 2509-2513 และ2529-2544 ที่มีสภาพป่าค่อนข้างชัดเจน หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็ยังมีภสาพป่า แต่นี่คือสภาพป่า เมื่อปีที่แล้ว ที่เริ่มเห็นว่าแปลงป่าเริ่มถูกตัดขยายออกไป กรอบสีเขียวแปลงล่าสุดเคยเป็นป่าตอนนี้เตียนโล่ง เร่ิมถูกแผ้วถางมากขึ้นในอีกหลายปีต่อมา



ข่าว 3 มิติ นำภาพและเชฟไฟล์มาเทียบกับภาพมุมสูงที่บันทึกไว้เมื่อสัปดห์ที่ผ่านมา พบว่าคล้ายกันหรือเรียกได้ว่าตรงกันทั้งหมด ทั้งรูปแปลง ส.ป.ก. ที่ตอนนี้เป็นที่ตั้งบ้านของผู้รับเหมาก่อสร้างรายหนึ่ง หรือแม้แต่แปลงด้านขวามือของเชฟไฟล์ ก็ตรงกับแปลงบ้านพักของภรรยานายสวรรค์ สังเกตุกิจ อดีตพนักงานราชการป่าไม้ ที่ได้สิทธิ์ ส.ป.ก. 1 แปลง *****



แต่ประเด็นที่ข่าว 3 มิติต้องการหาคำตอบคือ แปลงที่อยู่ถัดไป จากแปลงที่อยู่อาศัย ซึ่งมีขอบเขตเข้าไปในเขตป่านั้น สำรวจรังวัด หรือออกเอกสารสิทธิ์โดยชอบหรือไม่ และตอนนี้ก็เห็นชัดแล้วว่าเชฟไฟล์ หรือรูปแปลงยาว ไปถึงเชิงเขาที่มีโขดหินน้อยใหญ่ซ้อนกันอยู่



จริงอยู่รูปจากเชฟไฟล์นี้เป็นภาพแบนราบ เห็นมิติกว้าง และยาว แต่ไม่มีมิติสูงต่ำ ของเนินเขา แต่หากนำเชฟไฟล์นั้นมาเทียบกับภาพจากโดรนที่บันทึกล่าสุด จะเห็นชัดเจนว่าเส้นของแปลงนั้น ลากขึ้นไปเนินเขาที่เต็มไปด้วยโขดหิน ซึ่งไม่เหมาะจะทำเกษตรกรรม และเป็นที่มาของคำถามว่า การออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.เหล่านี้ ได้สำรวจพื้นที่จริงหรือไม่



ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยกับข่าว 3มิติ ก่อนหน้านี้ว่า ส.ป.ก. ไม่มีสิทธิ์เลือกที่ดิน ที่จะรับมาเพื่อปฎิรูปสำหรับเกษตรกร เมื่อได้มาตามกฎหมายก็ต้องรับมาทั้งหมด แต่ก็มีระเบียบที่จะกันคืนให้กรมป่าไม้ หากเห็นว่าไม่เหมาะทำเกษตรกร เช่นกรณี้ที่ไม่เหมาะสม แต่กลับออก ส.ป.ก. ไป จึงเป็นเหตุผลถึงที่ต้องตั้งกรรมการสอบ และแจ้งความเอาผิด ส.ป.ก.ด้วย แต่ก็ยันว่าไม่กระทบต่อนโยบายหลักของการจัดสรรที่ดินให้ราษฎรแน่



ที่จริงแล้ว ในปี 2538 ส.ป.ก.และกรมป่าไม้ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง การกันพื้นที่ที่ประกาศเขต ส.ป.ก.ไปแล้ว กลับคืนให้กรมป่าไม้ หากพื้นที่นั้นๆไม่เหมาะทำเกษตรกรรม ซึ่งมี 4 ข้อหลัก และ 7 ข้อย่อย ของที่ดินที่ ส.ป.ก.ต้องกันคืนให้กรมป่าไม้ โดยกรณีนี้เข้าข่ายหลายข้อใน 7 ข้อดังกล่าว เช่นเป็นป่า ไม่เหมาะทำเกษตร มีความลาดชันหรือลาดเอียง เป็นต้น ที่ส.ป.ก.จริงต้องกันพื้นที่ออก เพื่อคืนให้กรมป่าไม้ แต่กรณนี้ไม่เพียงไม่ได้กันออก แต่กลับรุกคืบขึ้นไปบนเขาที่คาดหวังจะได้ทิวทัศน์มากกว่าเกษตรกรรม จึงเป็นที่มาของประเด็นว่านอกจากตั้งกรรมการสอบว่า ออกโดยชอบหรือไม่นั้น ยังต้องหาคำตอบว่าใครได้ประโยชน์และใครเอื้อประโยชน์นั้นด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News