สังคม

นักวิจัยถอดรหัส DNA มนุษย์โบราณ 'ถ้ำโลงผีแมน' สำเร็จ พบเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย ในยุคเหล็ก

โดย nut_p

11 ก.พ. 2567

103 views

ความคืบหน้าการศึกษาแหล่งโบราณคดีโลงไม้โบราณ และโครงกระดูกมนุษย์ ในถ้ำโลงผีแมน อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ล่าสุดได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติแล้ว โดยนักวิจัยสามารถถอดรหัสดีเอ็นเอโบราณของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุกว่า 1,700 ปี กลุ่มนี้ได้



ซึ่งพบความเชื่อมโยงด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับซากโครงกระดูกอื่น ๆ ในพื้นที่ โดยสามารถต่อยอดงานวิจัยนี้สู่ความเกี่ยวข้องในกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เพื่อประโยชน์ด้านประวัติศาสตร์ ที่พบกระจายอยู่ทั่วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกตั้งแต่ยุคโบราณ



กว่า 10 ปีแล้ว ที่นักวิจัยจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ค้นพบ ถ้ำผีแมนโลง ที่ซ่อนอยู่บนเขาสูง ในอำเภอบางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีอายุเก่าแก่ราว 1,000-2,300 ปีมาแล้ว จนนำมาสู่เรื่องราวของการค้นพบหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี นั่นคือ ซากโลงไม้และโครงกระดูมนุษย์โบราณ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 250 คน จากคนไม่ต่ำกว่า 12 รุ่น รวมไปถึงสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ จนนำมาสู่การศึกษาค้นคว้า โดยสืบจากร่องรอยของวัตถุเหล่านี้ และ ตรวจสอบดีเอ็นเอจากโครงกระดูกโบราณ ซึ่งอาจเป็นหลักฐานสำคัญทางโบราณคดีชาติพันธุ์ในความเชื่อมโยงของคนในพื้นที่เอเชียตะวันออกได้



ล่าสุด งานวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ อย่าง Nature communications เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา



โดย ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า ผลงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในชื่อว่า มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้นำเสนอข้อค้นพบใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยปรากฏในแวดวงวิชาการ เช่น ผลลำดับเบสที่สมบูรณ์ของตัวอย่างในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มากถึง 1,234,000 คู่ โครงสร้างและปฏิสัมพันธ์ ของคนโบราณในวัฒนธรรมโลงไม้ ที่เป็นต้นแบบการศึกษาด้านมนุษย์โบราณและวัฒนธรรมโลงไม้ สำหรับพื้นที่อื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้



นักวิจัยได้นำดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ในชิ้นส่วนกระดูกและฟัน จำนวน 33 ชิ้น อายุกว่า 1,700 ปี ที่พบในถ้ำต่าง ๆ ในอำเภอปางมะผ้า มาสกัดดีเอ็นเอ



ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.วิภู กุตะนันท์ ผู้ร่วมวิจัยและนักพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า การศึกษาลักษณะนี้ สำหรับแหล่งโบราณคดีในภูมิประเทศป่าเขตร้อนนั้นเป็นไปได้ยากมาก จากสภาพอากาศร้อนชื้น แต่ชิ้นส่วนที่พบที่ถ้ำย่าปาแหน มีความสมบูรณ์ของดีเอ็นเอมาก จนทำให้พบความสัมพันธ์ในกลุ่มของเครือญาติทั้งในพื้นที่เดียวกันและใกล้เคียง เช่น พ่อแม่ลูก หรือ รุ่นก่อนหน้าหลายรุ่น จึงอาจระบุได้ว่า เมื่อกว่า 2,000 ปี ลักษณะการอยู่อาศัยของประชากรในดินแดนนี้ อาจมีการโยกย้ายถิ่นฐานไปตามยุคสมัย แต่ที่ยืนยันได้แน่ชัดคือ การปรากฏหลักฐานการรวมกลุ่มของชาติพันธุ์ที่หลากหลายกระจายอยู่ทั่วไป



เบื้องต้นสรุปได้ว่า คนโบราณในอำเภอบางมะผ้าอยู่ในยุคเหล็ก คล้ายกับประชากรโบราณสมัยหินใหม่ใน 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำเหลืองของจีน ซึ่งต่างจากคนโบราณบ้านเชียงสมัยสำริด แต่ยังไม่พบความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมกับชาติพันธุ์อื่น ๆ ในไทย เช่น กลุ่มคนโบราณบ้านเชียง ที่กระจายอยู่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพราะกลุ่มนี้มีหลักฐานยืนยันการอพยพในเส้นทางที่ต่างกัน การใช้ดีเอ็นเอโบราณวิเคราะห์ความสัมพันธ์ จะทำให้คนปัจจุบันเข้าใจการปฏิสัมพันธ์ของชุมชนในอดีต การใช้ชีวิต และความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคได้



การค้นพบในถ้ำผีแมนโลงลงรัก จึงมีนัยยะสำคัญต่อการตีความได้ว่า เมื่อเกือบ 2,000 ปีที่แล้ว ในดินแดนปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีคนอาศัยอยู่ที่นี่หลากหลายชาติพันธุ์ ไม่ต่างจากในปัจจุบัน ซึ่งการบูรณาการด้านสังคมศาสตร์ มนุษศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จะทำให้นักวิจัยสามารถอธิบายความเชื่อมโยงของรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

คุณอาจสนใจ

Related News