สังคม

ขั้นตอนการอายัดและดำเนินคดี 'ทักษิณ' คดีมาตรา 112-พ.ร.บ.คอมฯ

โดย parichat_p

6 ก.พ. 2567

40 views

การอายัดตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีความผิดตามมาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยประเด็นหากนายทักษิณ ได้รับการพักโทษในคดีก่อนหน้านี้ เขาจะต้องถูกอายัดตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการสั่งฟ้องในคดีใหม่เลยหรือไม่


วันนี้(6 ก.พ.67) มีความชัดเจน ด้านโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงในเรื่องนี้ โดยเปิดเผยว่า การอายัดตัวนายทักษิณ ได้ดำเนินการแล้ว ตั้งแต่เดินทางกลับมาประเทศไทย รอเพียงอัยการสูงสุด พิจารณาคำสั่งทางคดีเท่านั้น


วันนี้ นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงความคืบหน้าคดีของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์


โดยระบุว่า วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 อัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชการอาญาจักร จากตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. โดยระบุว่า นาย ทักษิณ มีความผิดในข้อหาร่วมกันหมิ่น ดูหมิ่น แสดงอาฆาตมาดร้ายสถาบันเบื้องสูง ตามมาตรา 112 และร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงโซล เกาหลีใต้และไทยเกี่ยวพันกัน เนื่องจากความผิดนี้ผิดตามกฎหมายไทยแต่เกิดนอกราชอาณาจักร ทางอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 แต่ระหว่างนั้น นายทักษิณ ได้หลบหนีคดี อัยการสูงสุดขณะนั้น จึงแจ้งให้ตำรวจออกหมายจับ และศาลได้อนุมัติออกหมายจับมีอายุความ 15 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ เท่ากับว่าจะหมดอายุความ 21 พฤษภาคม 2573


กระทั่ง 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณ เดินทางกลับไทยแล้วเข้ามอบตัว ซึ่งพนักงานสอบสวนอายัดตัว พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว


ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2567 นาย กุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และคณะพนักงานสอบสวนที่ดูแลคดีร่วมกับตำรวจ เข้าแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมพฤติการณ์ทางคดีให้นายทักษิณ ทราบแล้วที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ แต่นายทักษิณ ให้การปฏิเสธ พร้อมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการในวันเดียวกัน ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด เพื่อทำเรื่องพิจารณาถึง อัยการสูงสุด ให้พิจารณาและมีคำสั่งทางคดีต่อไป


ตามขั้นตอนการตรวจสอบสำนวนของพนักงานอัยการ ถ้าเป็นสำนวนที่สมบูรณ์ครบถ้วน ต้องมีคำให้การทั้ง 2 ฝ่าย และพยานหลักฐาน ถ้าสำนวนครบจะสามารถมีความเห็นสั่งคดีได้ แต่ถ้าสำนวนคดีไม่สมบูรณ์ เช่น ผู้ต้องหาหลบหนีจะไม่สามารถสั่งคดีได้ แต่จะมีความเห็นว่า "เห็นควรสั่งฟ้อง" จนกว่าจะได้พยานหลักฐานครบ จึงจะมีการพิจารณาแล้วมีความเห็นอีกครั้ง


อัยการสูงสุดมีความเห็นได้ 3 แนวทางคือ สั่งสอบเพิ่มหากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ถ้าสำนวนสมบูรณ์และมีความเห็นว่าน่าจะมีความผิด ก็จะ "สั่งฟ้อง" และถ้าหากดูแลพยานหลักฐานที่รวบรวมมาดูแล้วไม่น่าจะเข้าความผิดจะความเห็น "สั่งไม่ฟ้อง"


ส่วนขั้นตอนการอายัดตัวนาย ทักษิณ นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกอัยการสูงสุด ยืนยันทางกรมราชทัณฑ์ยังไม่มีคำสั่ง และตำรวจได้แจ้งอายัดตัวทักษิณไปแล้ว ซึ่งราชทัณฑ์รับทราบ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 หากมีการพักโทษกรมราชทัณฑ์ต้องแจ้งย้อนกลับมาที่ตำรวจ เพื่อที่ตำรวจจะไปรับตัวนาย ทักษิณ มาดำเนินคดี ว่าจะให้ประกันหรือไม่ประกัน หรือควบคุมตัวอย่างไร จากนั้นต้องแจ้งกลับมาที่อัยการว่ามีการควบคุมตัวนาย ทักษิณอย่างไร


หากนาย ทักษิณ ได้เข้าโครงการพิจารณาพักโทษของกรมราชทัณฑ์ นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายขั้นตอนว่า ทางกรมราชทัณฑ์ต้องแจ้งพนักงานสอบสวนล่วงหน้า 7 วัน ว่ามีประสงค์รับตัวนาย ทักษิณ หรือไม่ ถ้าประสงค์ก็มารับตัวไป ถ้ามารับตัวก็เอาไปควบคุมหรือจะให้ประกันหรือไม่ แต่ถ้าพนักงานสอบสวนไม่รับตัวก็จะได้รับตัวกลับบ้าน หรือสถานที่ตามที่ราชทัณฑ์กำหนด และก็ไปรายงานตัวที่กรมคุมประพฤติตามกำหนด หากอัยการมีคำสั่งให้ไปรับตัวมาฟังคำสั่ง อัยการจะมีหนังสือไปถึงตำรวจให้ไปควบคุมผู้ต้องหามารายงานตัวกับอัยการอีกที

คุณอาจสนใจ

Related News