สังคม

ก.คลัง ยัน 'เงินดิจิทัลวอลเล็ต' แล้วเสร็จทัน พ.ค.นี้ - 'ศิริกัญญา' เตือน กฤษฎีกา ยังไม่ได้ไฟเขียว พ.ร.บ.กู้เงิน

โดย parichat_p

8 ม.ค. 2567

53 views

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะแล้วเสร็จทันเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากคณะกรรมการกฤษฏีกา ตอบคำถามกระทรวงการคลัง แล้วว่า ออก พ.ร.บ.เงินกู้ได้ แต่มีข้อสังเกตุและข้อเสนอแนะมาด้วย พร้อมระบุว่าเตรียมประชุมคณะกรรมการนโยบายลงมติว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไร ขณะที่นางสาว ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เตือนว่า คณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่ได้ไฟเขียว พ.ร.บ.กู้เงิน เป็นแต่เพียงการชี้เงื่อนไขทางกฎหมาย และขอให้คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ลงมติอย่างระวัง


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบคำถามของกระทรวงการคลังมาแล้วว่า คณะกรรมการกฤษฏีกา ยืนยันว่าสามารถออกพระราชบัญญัติ กู้เงิน 500,000 ล้านบาทได้ แต่มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะมาด้วย ในประเด็นว่าให้ปฏิบัติตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ในเรื่องความคุ้มค่า เพราะจะต้องมีการประเมินผลทั้งก่อน และหลังโครงการ โดยนายจุลพันธ์ ระบุว่า กรณีว่าจะเป็นไปตามข้อกฎหมาย ตามมาตรา 53 ในประเด็นว่าอยู่ในภาวะ ’เป็นวิกฤตหรือไม่’ ถือเป็นภาระหน้าที่ของทางกระทรวงการคลัง แล้วภาระหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบาย ที่จะดำเนินการให้ครบถ้วน


ส่วนประเด็นที่มีข้อเสนอแนะว่าให้รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ก็จะต้องพิจารณาถึงสิ่งที่จะเกิดต่อจากนี้ และจะต้องเชิญประชุมคณะกรรมการนโยบาย ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงเลขาธิการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการให้นำเสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้ทุกคนทราบถึงคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสรุปให้ที่ประชุมฟังด้วยว่า ในความเห็นนั้นๆ มีความหมายเช่นไร และควรจะดำเนินการเช่นไรต่อไป ส่วนกรรมการนโยบาย หลังจากประชุมแล้ว ก็จะมีมติว่าจะดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ด้วยดีอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ที่ทำได้ และนายจุลพันธ์ยังระบุว่า กรอบเวลาจะต้องเป็นไปตามเป้าหมายเดิม คือในเดือนพฤษภาคม โดยที่ยังไม่มีเหตุให้ต้องเลื่อนออกไป


ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่า โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กลไกของดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่โครงการสงเคราะห์ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย กลับไปสู่ระดับการเติบโตที่เต็มศักยภาพ ตามจุดมุ่งหมายของรัฐบาล ส่วนที่สมาชิกวุฒิสภา หรือสว. จะขอยื่นอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ในประเด็นดิจิตอลวอลเลต ด้วยหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิและหน้าที่ ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ชี้แจง และทำความเข้าใจอยู่แล้ว


ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งความเห็นต่อพระราชบัญญัติ กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยนางสาวศิริกัญญาระบุว่า หากจะมองว่ากฤษฎีกาไฟเขียว ก็ยังไม่ชัดเจน และอ้างอิงว่าหากตัวเองเป็นข้าราชการที่มี ส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็จะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เพราะสิ่งที่กฤษฎีกาบอกคือ หากโครงการเป็นไปตามกฏหมาย มาตรา 53 /มาตรา 57/ มาตรา 6 และมาตรา 9 ของวินัยการเงินการคลัง ก็สามารถกระทำได้ แต่หากผิดเงื่อนไขเหล่านั้น ก็ไม่สามารถกระทำได้


นางสาวศิริกัญญา ยังระบุว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความตามข้อกฎหมายโดยตรง ผู้เกี่ยวข้องจึงควรนำเรื่องนี้กลับเข้ามาประชุม ในคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต คณะใหญ่อีกครั้ง เพื่อพิจารณาว่าการดำเนินการ จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่


นางสาวศิริกัญญา ยังระบุว่าจนถึงขณะนี้ยังรอรายงานการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการนี้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลเชิงลึก จึงได้แต่งตั้งคำถามจากประสบการณ์ ที่ประเทศอื่นๆเคยแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีการแจกเงิน ซึ่งก็พบว่าไม่ใช่วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด แต่อาจจะเป็นวิธีการที่เร็วที่สุด และไม่คุ้มค่าต่อเม็ดเงินมากที่สุด และจนถึงขณะนี้ ยังไม่เห็นรายละเอียดอย่างครบถ้วนว่าโครงการมูลค่า 5 แสนล้านบาทจากกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังระบุว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องประเมินก่อนดำเนินโครงการี้คือ สรุปแล้วเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติหรือไม่ ซึ่งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้ง ว่า นิยามของคำว่า วิกฤตเศรษฐกิจจะต้องไปในแนวทางที่เห็นเด่นชัดว่า เป็นวิกฤตที่เหมือนกับวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือโควิด ซึ่งทุกคนเห็นเด่นชัดและไม่มีใครเถียง ดังนั้น จึงตกอยู่กับรัฐบาลว่า จะไปหากลวิธีใดเพื่อทำให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจ ดูวิกฤต ซึ่งจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอต่อการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเลตดังกล่าว


นางสาวศิริกัญญา อธิบายว่า ลักษณะของวิกฤตคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น รายได้ของประชาชน GDP การจ้างงาน จึงจะเรียกว่าวิกฤต และต้องดูว่ารัฐบาลจะหาตัวเลขใดมา สุดท้ายหากำลังพิจารณาพ.ร.บ.กู้เงินกันอยู่ แล้วเศรษฐกิจเกิดกระเตื้องขึ้นมา สรุปแล้วจะยังอยู่ในเงื่อนไขเดิมหรือไม่ ก็ต้องไปลุ้นกัน

คุณอาจสนใจ

Related News