สังคม

ญาติคนไทยเหยื่อค้ามนุษย์ในเล่าก์ก่าย ยื่นหนังสือ ขอความเป็นธรรม อย่าเหมารวมเป็นแก๊งคอลฯ

โดย panwilai_c

21 พ.ย. 2566

69 views

คนไทยจากเมืองเล่าก์ก่าย 266 คน ยังอยู่ที่ศูนย์การเรียนรู้มหานคร เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เป็นวันที่ 2 แล้ว ยังไม่เปิดให้ญาติเข้าเยี่ยม ทำให้ญาติได้รวบรวมรายชื่อผ่านมูลนิธิอิมมานูเอล ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อติดตามการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้เป็นไปตามกลไกกฎหมายค้ามนุษย์ กับการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และเตรียมจะยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วย เพราะเป็นห่วงจะเกิดการเหมารวมจนทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม



ตัวแทนญาติคนไทยในเล่าก์ก่ายที่รวบรวมรายชื่อกันเบื้องต้น 25 คน ผ่านมูลนิธิอิมมานูเอล ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ในฐานะรองประธาน ที่ได้รับมอบหมายจากนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานคณะกรรมาธิการฯ มารับหนังสือที่หน้าศูนย์การเรียนรู้มหานคร เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่พักของคนไทย 266 คนจากเมืองเล่าก์ก่าย และอยู่ในขั้นตอนการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ผ่านมา 2 วันยังไม่เปิดให้เข้าเยี่ยม ทางญาติจึงเป็นห่วงกระบวนการในการคัดแยก เนื่องจากมีการให้ข่าวจากทางตำรวจว่าในจำนวนคนไทยจากเมืองเล่าก์ก่าย 70 เปอร์เซ็นต์ อาจเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นต์เตอร์



แต่จาการรวบรวมหลักฐานของมูลนิธิอิมมานูเอลและจากญาติ พบว่าส่วนใหญ่ที่มีการขอความช่วยเหลือ เป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ เพราะมีการโฆษณาไปทำงานไม่ตรงปก มีการบังคับทรมานให้ทำงาน มีการเรียกค่าไถ่ และเป็นห่วงว่าผู้เสียหายจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากหลายคนสภาพจิตใจย่ำแย่ทั้งจาการซ้อมทรมานและสถานการณ์สงคราม จึงไม่อยากให้ถูกเหมารวมเป็นอาชญากรด้วย รวมถึงบางรายเช่นญาติของคนนี้ก็มีอาการป่วยเฉพาะทางขาดยามา 20 วันแล้ว



นายจารุวัฒน์ จิณฑ์มรรคา รองประธานมูลนิธิอิมมานูเอล เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องมีการยื่นหนังสือไปยังกรรมาธิการ และเตรียมจะยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วยนั้น เพราะมูลนิธิอิมมานูเอล ติดตามคดีการค้ามนุษย์ อย่างกรณีที่มีการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในกัมพูชา มีการช่วยเหลือคนไทยออกมาได้กว่า 200 คน แต่มีการดำเนินคดีเหยื่อการค้ามนุษย์ไปด้วย 24 คนทั้งๆที่มีหลักฐานชัดว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้เสียหาย และคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จึงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก



นายกัณวีร์ เปิดเผยว่าการช่วยเหลือคนไทยได้กลับจากเล้าก่ายมาถึงไทยอย่างปลอดภัยเป็นงานด้านมนุษยธรรม หลังจากนี้จะเป็นมาตรการด้านคนไทย ซึ่งกรณีคนไทยกลุ่มนี้ต้องคัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์ และการปราบปรามอาชญากรรม ที่ต้องทำตามกระบวนการ NRM อย่างโปร่งใส การรับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มญาติไม่ใช่การกดดันเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เพื่อความเป็นธรรมกับเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้กรณีนี้นำไปสู่การกวาดล้างธรุกิจจีนเทา ที่หลอกลวงคนไทยไปทำงานในต่างประเทศ เป็นขบวนการค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีความซับซ้อนจากภัยสงครามด้วย



นายกัณวีร์ เปิดเผยว่าหลังได้รับหนังสือจะเร่งนำเสนอไปยังคณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน นำเข้าเป็นวาระพิจารณาเพื่อร่วมกันติดตามเรื่องนี้ ยืนยันว่าไม่ใช่การกดดันเจ้าหน้าที่รัฐแต่เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ไม่กลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News