สังคม

กลุ่มมาหามิตร สร้างย่านปทุมวัน-เพลินจิต ต้นแบบแยกขยะ ผ่านงาน 'Think ทิ้ง...ชีวิต'

โดย panwilai_c

18 พ.ย. 2566

131 views

นิทรรศการ Think ทิ้ง...ชีวิต นำขยะเหลือใช้มาจัดแสดงเป็นผลงานศิลปะ เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ผู้คนหันมาใส่ใจการแยกขยะก่อนทิ้งให้มากขึ้น ด้วยการเลิกเทรวม ซึ่งตอนนี้กลุ่มภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนในเขตปทุมวัน ได้จับมือกันสร้างย่านปทุมวันและเพลินจิตให้เป็นต้นแบบของการแยกขยะให้เกิดขึ้นจริง ในชื่อ กลุ่ม "มาหามิตร" โดยพบว่าผ่านมา 1 ปี สามารถปริมาณขยะไปสู่บ่อฝั่งกลบได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์


รถขยะที่เต็มไปด้วยขยะคันนี้ เป็นนิทรรศการหลักของงาน THINK ทิ้งชีวิต ที่กลุ่มมาหามิตรชวนทุกคนมาดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ของขยะบนหลังรถขยะของ กรุงเทพมหานคร ซึ่งขยะส่วนใหญ่ที่ถูกเก็บมามักพบอยู่ในสภาพปะปนกันหรือที่เรียกว่า การเทรวม


สิ่งนี้คือความท้าทายให้ผู้เข้าชมได้ลองสัมผัสกับประสบการณ์การเป็นเจ้าหน้าที่เก็บขยะทดลองแยกขยะเทรวมกองมหึมาที่มีขยะหลากหลายประเภทกองอยู่ชนิดที่ว่าต้องใช้เวลาเป็นวันกว่าจะแยกเสร็จสิ้น


โดยจากประสบการณ์ตรงของพนักงานเก็บขยะของกรุงเทพมหานคร ยืนยันตรงกันว่า กองขยะตามจุดทิ้งต่างๆ ในชุมชนนั้นมีสภาพแย่กว่าที่คิด ทั้งขยะที่มีสารพัดขยะหลากหลายรูปแบบ ขณะที่ขยะบางชนิดมาในรูปแบบถุงดำปริศนา



ซึ่งอาจสร้างบาดแผลให้ได้โดยไม่รู้ตัว นี่จึงเป็นความยากในการปฏิบัติงาน และ การถูกทำร้ายทางอ้อม อย่างที่เลี่ยงไม่ได้



กลุ่มมาหามิตรที่นำโดยภาคเอกชนทั้งบริษัทและเครือห้างสรรพสินค้าย่านปทุมวัน-เพลินจิต ได้ร่วมกับกรุงเทพมหาคร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างเขตปทุมวันให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการคัดแยกขยะ หรือ ปทุมวัน zero waste โดยเริ่มจากการจัดการขยะในกลุ่มผู้ประกอบการให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดขยะสู่บ่อขยะให้น้อยที่สุด



กลุ่มมาหามิตร ได้ใช้วิธีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางโดยเริ่มตั้งแต่ร้านค้า และ พนักงาน ขณะเดียวกันก็สร้างศูนย์บริหารจัดการขยะไว้ภายใน และ ใช้กิจกรรมสร้างแรงจูงใจให้กับผู้คนในย่าน เพื่อนำขยะมาร่วมโครงการ จนลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบไปได้มากกว่าครึ่ง โดยเฉพาะขยะเปียก เช่น เศษอาหาร



นายกอปร ลิ้มสุวรรณ ผู้จัดการโครงการ จุฬา ซีโร่เวส ได้แนะนำหลักการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นทางง่ายๆ คือ การลดการทิ้ง หันมาใช้ซ้ำ แยกขยะไปใช้ประโยชน์ เริ่มจากการแยกขยะเศษอาหาร ซึ่งทำได้ง่ายตั้งแต่ต้นทาง เช่น นำเศษอาหารไปทำอาหารสัตว์ หรือ เปลี่ยนเป็นปุ๋ย และพลังงาน เพื่อให้เกิดขยะสู่บ่อฝังกลบให้น้อยที่สุด



นิทรรศการ Think ทิ้งชีวิต จะชวนให้ทุกคนมาดู รู้ และเข้าใจ ถึงการทิ้งที่อาจสร้างประโยชน์หรือผลกระทบได้ในเวลาเดียวกัน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้เข้าชมได้กลับมาทบทวนและเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้ง งานนี้จะจัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

คุณอาจสนใจ