สังคม
นักวิชาการประเมินสงครามตะวันออกกลาง อาจบานปลาย แนะรบ.วางนโยบายส่งออกแรงงาน
โดย panwilai_c
3 พ.ย. 2566
63 views
นักวิชาการด้านความมั่นคง คาดการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส อาจบานปลาย แต่อยู่ในวงจำกัด ยังไม่ยกระดับ เสนอแนะรัฐบาลไทย เร่งช่วยเหลือตัวประกัน และหาแนวทางป้องกันไม่ให้คนไทยทำงานในพื้นที่เสี่ยง พร้อมกำหนดนโยบายส่งออกแรงงานไปต่างประเทศทั้งระยะสั้น กลาง ยาว
มูลนิธิฟรีดริชเนามัน ประจำประเทศไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จัดงานเสวนา "ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ : สงครามที่ไม่มีจุดจบ"
โดยนายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ต้องการเรียกร้องให้ประเทศไทยวางตัวอย่างเหมาะสมในแต่ละกรณีที่เกิดขึ้น ระหว่างอิสราเอล กลุ่มฮามาส ความสูญเสียภายในฉนวนกาซา และความปลอดภัยของแรงงานไทย โดยเฉพาะตัวประกันที่มีคนไทยอยู่ การที่ฝ่ายนิติบัญญัติบินไปหารือก็ถือว่าดี แต่อยากให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติคุยกันด้วย เพราะถือเป็นภารกิจช่วยเหลือคนไทยเช่นกัน และจะทำอย่างไรในการหาแนวทางเพื่อสันติภาพที่แท้จริง
นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว 3 มิติ และ ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ในฐานะสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวในประเทศอิสราเอล เปิดเผยว่า ยังมีแรงงานไทยที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงติดกับฉนวนกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทที่กลุ่มฮามาส ประกาศจะยึดคืนจากอิสราเอล จึงคิดว่ารัฐบาลไทยต้องเน้นทำความเข้าใจกับแรงงานกลุ่มนี้ ที่คาดว่ายังเหลือหลายร้อยคน ให้อพยพออกจากพื้นที่ เพราะอาจจะยังอันตราย ส่วนแรงงานในพื้นที่ปลอดภัย ก็ต้องระมัดระวังตนเอง ทางกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงานต้องกำหนดพื้นที่ให้ชัดในการดูแลแรงงาน และต้องกำหนดแผนอพยพตามสถานการณ์เพราะมีแรงงานกลับมาแล้ว เกือบ 8,000 คน ยังเหลืออีกกว่า 20,000 คนทำงานอยู่
ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่าเหตุผลที่แรงงานไทยยอมเสี่ยงภัยเพราะมีรายได้ดี รัฐบาลต้องเตรียมรับมือกับการหางานใหม่ให้แรงงานที่กลับมาแล้ว รวมถึงแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจว่าทำไมแรงงานไทยนิยมไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมของไทยที่ยังมีรายได้น้อย
ศาสตราจารย์ พลโท ดร.สมชาย วิรุฬหผล ประธานที่ปรึกษา องค์กรรณรงค์เพื่อความเป็นเอกภาพของปาเลสไตน์ หรือ PSC ซึ่งต่อสู้เป็นหนึ่งเดียวกับชาวปาเลสไตน์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมตามหลักมนุษยธรรม ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียชาวไทยและเป็นห่วงในตัวประกัน ที่ทุกฝ่ายกำลังพยายามช่วยเหลือให้ได้รับการปล่อยตัว และเห็นด้วยที่รัฐบาลไทย จะต้องพิจารณาให้รอบคอบไม่ส่งแรงงานไทยไปทำงานในพื้นที่พิพาทใกล้ฉนวนกาซาที่อิสราเอลยึดครองจากปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นเหตุผลให้กลุ่มฮามาสเข้าโจมตีเพื่อยึดคืนพื้นที่ คนที่อยู่บริเวณนั้นจึงถือว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และอยากเห็นสังคมไทยเข้าใจความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่าชาวปาเลสไตน์ กับอิสราเอล ที่มีมายาวนาน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล และ กลุ่มฮามาส อาจยืดเยื้อ เพราะเข้าสู่วันที่ 28 เช่นเดียวกับสงครามยูเครน ที่เดินทางมาถึงวันที่ 618 แล้ว และสงครามเมื่อ 7 ตุลาคม น่าจะเป็นเส้นแบ่งเวลาใหญ่ในตะวันออกกลาง ที่ทำให้เกิดความผันผวนในภูมิภาค และพาโลกทั้งโลกให้หันมาดูสถานการณ์และปัญหามนุษยธรรมในกาซาอย่างจริงจัง พร้อมตั้งโจทย์ว่าจะกลับเข้าสู่กระบวนการสันติภาพกันหรือไม่ เพราะทั้งหมดนี้สะท้อนความล้มเหลวของ Oslo Accord และ Two-State Solution จึงต้องจับตาว่ามีการฟื้น Abraham Accord ในกลางปีหน้าได้หรือไม่ ส่วนผลกระทบกับแรงงานไทย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไทยต้องทบทวนนโนบายการส่งออกแรงงานไปต่างประเทศด้วย
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ยังวิเคราะห์ว่า จากประสบการณ์ คิดว่าต้องเตรียมพร้อมรับ กับการก่อการร้ายชุดใหม่ อย่างที่หลายฝ่ายกังวลว่า บรรดาผู้รอดชีวิตส่วนหนึ่งจะเข้าร่วมกับฮามาสโดยสมัครใจ และทำให้เงื่อนไขและเหตุการณ์ก่อการร้ายขยายตัวในอนาคต ขณะเดียวกัน ตะวันออกกลางยังเป็นพื้นที่แข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ ไม่ต่างจากยุคสงครามเย็น แต่ครั้งนี้เป็นสงครามเย็นใหม่