สังคม

นายกฯลงพื้นที่อุบลฯ แนะมาตรการใหม่ จัดการน้ำท่วม-แล้ง

โดย panwilai_c

6 ต.ค. 2566

43 views

วันนี้นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่อุบลราชานี เพื่อให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม และติดตามมาตรการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งที่ต้องจับตาคือมีข้อเสนอให้เปลี่ยนวิธีกักเก็บน้ำช่วงฤดูฝน จากเดิมช่วงต้นฤดู เปลี่ยนเป็นช่วงปลายฤดูฝน เพื่อลดปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างที่มักจะเต็มอ่างช่วงกันยายนและตุลาคมของทุกปี รวมถึงข้อเสนอขุดคลองตัดยอดน้ำชีและน้ำมูล ลงแม่น้ำโขงโดยไม่ผ่านแก่งสะพือ



นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งจากเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ และบางส่วนของเทศบาลนครอุบลราชธานี โดยติดตามสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด ซึ่งขณะนี้แม่น้ำมู ล้นตลิ่งประมาณ 65 เซนติเมตร จึงหลากท่วมบางชุมชนที่แนวพนังกั้นน้ำยังมีไม่ครบ จึงต้องเตรียมอพยพผู้คนในหลายชุมชนของเทศบาลเมืองรารินชำราบไปอยู่ในที่ปลอดภัย



ข้อมูลล่าสุดคือขณะนี้มีน้ำที่ล้นลำน้ำมูล หลากท่วมอยู่ประมาณ 297 ล้าน ลบม. โดยมีน้ำจากลำน้ำชี ไหลมาสมทบต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามแผนระยะเร่งด่วนคือ ตอนบนของแม่น้ำชีให้กักน้ำไว้ โดยปิดประตูระบายน้ำ ตอนกลางให้หน่วงน้ำไว้ในลำน้ำ หรือที่กักเก็บ และตอนปลายให้เร่งระบายลงแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง คาดว่าน้ำมูลที่ล้นลำน้ำ จะกลับเข้าตลิ่งราว 20 ตุลาคม



จากนั้นนายกรัฐมนตรี ออกจากสถานีวัดน้ำ M7 เทศบาลนครอุบลราชธานีไปที่แก่งสะพือ อำเภอพิบูลย์มังสาหาร ซึ่งเป็นช่วงปลายๆของแม่น้ำมูล ก่อนระบายลงแม่น้ำโขง ที่นี่มีนัยยะสำคัญตรงที่มีแก่งสะพือ หรือโขดหินธรรมชาติกลางลำน้ำมูล หน้าแล้งจะเป็นเหมือนเขื่อนธรรมชาติกักเก็บน้ำไว้ แต่หน้าฝนถูกมองว่าขวางทางน้ำ



วันนี้จึงมีการเสนอโครงการขุดคลองผันน้ำ 2 โครงการต่อนายรัฐมนตรี หวังตัดยอดน้ำมูล ที่จะไหลผ่านวารินชำราบ



นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้นำเสนอข้อมูล 2โครงการดังกล่าว โครงการแรก เป็นการศึกษาโดยบริษัทที่ปรึกษา ของ สทนช.เรื่องขุดคลองตัดยอดน้ำชี เหนือเขื่อนยโสธร เชื่อมกับลำน้ำเซบกและเซบาย ไปออกท้ายเขื่อนปากมูล แล้วลงแม่น้ำโขง ยาว 180 กิโลเมตร มีการศึกษาเบื้องต้นพบว่าระบายน้ำได้ 960 ลบม./วินาที ได้พื้นที่ชลประทาน 1 ล้านไร่



ส่วนอีกโครงการศึกษาโดยบริษัทที่ปรึกษากรมชลประทาน ขุดคลองเชื่อมห้วยขยุง เพื่อตัดตัดน้ำจากแม่น้ำมูล ที่บ้านท่าเจริญ ต.ท่าลาด อ.วารินชำราบ ไปบรรจบแม่น้ำมูลท้ายแก่งสะพือยาว80 กิโลเมตร ระบายน้ำได้ 96 กิโลเมตร ระบายน้ำได้ 1200 ลบ.ต่อวินาที กรมชลประทานระบุว่าหากขุดคลองทั้งสองได้ จะตัดยอดน้ำที่จะไหลผ่านวารินชำราบได้



ขณะที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่บริหารอย่างเต็มที่ แต่เชื่อว่ายังทำให้ดีกว่านี้ได้อีก ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการบริหารน้ำใหม่แม้อาจจะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ โดยย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญทั้งปัญหาน้ำแล้งและปัญหาน้ำท่วม



นอกจากข้อเสนอดังกล่าว นายเกรียง กัลป์ติดนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอว่าให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการกักเก็บน้ำ โดยอ้างอิงว่าที่ผ่านมามีการกักเก็บน้ำในอ่างและเขื่อนช่วงต้นฤดูฝน เพราะคำนึงการเกษตรมากไป จึงทำให้น้ำล้นอ่างในช่วยปลายฤดูฝน จนต้องเร่งระบายออกและเกิดน้ำท่วมตามมา จึงเสนอให้ระบายน้ำออกจากอ่างหรือเขื่อนช่วงต้นฤดูฝนแล้วมากักเก็บช่วงกันยายนถึงตุลาคม โดยอ้างอิงว่ามีฝนตกชุกอยู่แล้ว

คุณอาจสนใจ

Related News