สังคม
นายกฯ บุกกรมชลประทานตรวจแผนรับมือน้ำท่วม กำชับช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเต็มที่
โดย parichat_p
1 ต.ค. 2566
36 views
เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ และแผนการติดตามรับมือ โดยล่าสุดกรมป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัย เตือน 10 จังหวัด ลุ่มเจ้าพระยาและกรุงเทพ ให้เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นจากการเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ขณะที่นายกรัฐมนตรี ตรวจราชการด่วน ที่ศูนย์ปฎิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน โดยกำชับให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเต็มที่ทั้งลุ่มน้ำชี มูล และลุ่มน้ำยม น่าน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตรวจราชการด่วนที่ศูนย์ปฎิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน เมื่อหัวค่ำที่ผ่านมาโดยได้ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับ สำนักชลประทานที่บริหารจัดการน้ำในส่วนภูมิภาค รวมถึงร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งไปตรวจราชการน้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัย ก็เข้าหารือผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ด้วย
ในระหว่างการประชุมคอนเฟอร์เรนซ์ นายกรัฐมนตรีระบุว่าเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมทุกจังหวัด ทั้งจังหวัดแพร่ น่าน สุโขทัย และอุบลราชธานี ซึ่งทั้งต้องดูแลปัญหา เฉพาะหน้าและการฟื้นฟูเยียวยา โดยให้มองการแก้ปัญหาระยะยาวไว้ด้วย
หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ประสบภัย รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริหารจัดการจราจรน้ำ ทั้งในลุ่มน้ำชี-มูล และลุ่มน้ำยม-น่าน ให้เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น / นายกรัฐมนตรียังตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีระบบเตือนภัยผ่าน SMS โดยระบุสั้นๆว่าจะดำเนินการทั้งระบบ
ขณะที่เดียวกันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานให้ 10 จังหวัดคืออุทัยธานี/ ชัยนาท/สิงห์บุรี/อ่างทอง/สุพรรณบุรี/ พระนครศรีอยุธยา/ ลพบุรี /ปทุมธานี/ นนทบุรี /สมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ให้เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ และให้ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำให้ เตรียมอุปกรณ์ เครื่องจักรกลให้พร้อม
เพราะกองอำนวยการ ปภ. ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมภาคเหนือ ทำให้น้ำในลำน้ำเพิ่มขึ้น และมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากขึ้น โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จะมีน้ำไหลผ่าน 1,300 ถึง 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะมีน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง และลำน้ำสาขา ประมาณ 50-150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณระหว่าง 1350-1750 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที จำเป็นต้องระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 1,200-1400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำนอกคันกั้นน้ำ ที่คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง /คลองบางบาล/ตำบลหัวเวียง อำเภเสนา /ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 1 ถึง 1 เมตรครึ่ง ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นไป
จนถึงขณะนี้ ปภ.มีข้อมูลจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 12 จังหวัด คือเพชรบูรณ์/อุตรดิตถ์/ลำพูน/เชียงใหม่/ลำปาง/แพร่/ตาก/สุโขทัย/กาฬสินธุ์/ยโสธร/อุบลราชธานี และปราจีนบุรี
ขณะเดียวกัน ร่องมรสุมที่ทำให้เกิดฝนตกหนักในช่วงปลายฤดูฝน ทำให้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำสะสมรวมกันแล้ว 47,868 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 67 และหากรวมแหล่งน้ำทุกขนาดทั่วประเทศ มีน้ำสะสมอยู่53,527 ล้าน ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 65 โดยน้ำเหล่านี้จะเป็นต้นทุนไว้ใช้ในหน้าแล้งปีหน้า ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญ จะทำให้ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยะ หรือเรียกว่าอาจะเผชิญภัยแล้งได้
แท็กที่เกี่ยวข้อง กรมชลประทาน ,รับมือน้ำท่วม ,ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย