สังคม
เตือนจังหวัดริมน้ำโขง เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง 10-15 ส.ค.นี้
โดย panwilai_c
8 ส.ค. 2566
76 views
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือนจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขงรับมือผลกระทบระดับน้ำโขงที่จะเพิ่มสูงขึ้น ระหว่าง 10 ถึง 15 สิงหาคมนี้ จากอิทธิพลของฝนตกหนักทางตอนบนของลำน้ำโขง ขณะที่จังหวัดน่าน ยังมีพื้นที่เดือดร้อนจากน้ำป่าหลาก และระดับน้ำในแม่น้ำน่าน ที่สูงขึ้ต่อเนื่อง
น้ำเอ่อล้นตลิ่งของแม่น้ำน่าน ทำให้บางพื้นที่ของอำเภอท่าวังผา ได้รับผลกระทบแล้ว โดยนเฉพาะพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนในพื้นที่ลุ่มต่ำใกล้ลำน้ำ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ช่วยเหลือเร่งด่วน และเตือนเรื่องระดับน้ำที่ยังจะเพิ่มขึ้นอีก เช่นโรงเรียนบ้านหนองบัว อำเภอท่าวังผา ที่ถูกน้ำทว่มสูงประมาณ 60 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลความปลอดภัยแล้ว เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำน่าน ทั้งที่อำเภอท่าวังผา และอำเภอเมืองน่าน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยะชั่วโมงละ 10 เซนติเมตร
ส่วนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ออกประกาศเตือนทั้ง 7 อำเภอ ให้เตรียมรับมือฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำป่าหลาก และดินถล่มเพิ่มอีก หลังจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีดินสไลด์ปิดทับเส้นทางหลายจุดในอำเภอสบเมย และแม่สะเรียง พื้นที่ซึ่งยังมีฝนตกชุกตลอดวันนี้อยู่ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ในลำห้วยที่อยู่ใกล้โรงเรียนบ้านจอสิเดอ แต่ยังไม่กระทบบ้านเรือนชุมชน
ส่วนแม่น้ำปาย ที่ไหลผ่านตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีฝนตกหนักที่อำเภอปาย และอำเภอปางมะผ้า ที่ไหลบ่าลงแม่น้ำปาย ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศแจ้งเตือนระวังภัยดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่จังหวัดน่าน แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี ระหว่าง 7 ถึง 9 สิงหาคมนี้
อีกด้านหนึ่ง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศให้เฝ้าระวังผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำโขง ที่จะเพิ่มขึ้น โดยระบุว่ามีฝนตกหนักสะสม ในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และบริเวณแขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว คาดการณ์ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ตั้งแต่อำเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เรื่อยมาถึง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือที่จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม จนถึงอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น และอาจมีผลกระทบตามระดับความสูงของตลิ่งแม่น้ำโขงในแต่ละพื้นที่ โดยให้เฝ้าระวังระหว่างวันที่ 10 ถึง 15 สิงหาคมนี้
ตอนนี้ ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นมองเห็นได้ชัดเจน ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อของแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านประเทศลาว ถัดจากนั้นเป็นจังหวัดหนองคาย ซึ่งปรากฏว่าพืชผลการเกษตรที่ปลูกริมฝั่งหลายแปลง ในอำเภอสังคม ถูกน้ำท่วมเสียหายแล้วเช่นกัน ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กำชับให้เฝ้าระวัง การสัญจรทางเรือในแม่น้ำโขง และอาชีพเลี้ยงปลากระชัง ที่อาจได้รับผลกระทบ
เฝ้าระวังลำน้ำอูนเกินความจุ ท่วมนาข้าว หลังน้ำโขงสูง หนุนลำน้ำสาขา ที่จังหวัดนครพนม ปรากฎว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขง ที่สูงเกือบ 10 เมตร ทำให้ลำน้ำอูนที่ปกติจะไหลงลงสู่แม่น้ำโขง ไม่สามารถระบายลงได้ กลายเป็นเอ่อล้นเข้าท่วมนาข้าว และพื้นที่การเกษตรแล้วกว่า 5 พันไร่ นอกจากนี้ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำบัง ที่รองรับน้ำมาจากสกลนคร ระบายลงน้ำโขงที่ อำเภอธาตุพนม และลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ที่รับน้ำเกินกว่าจุของลำน้ำแล้วร้อยละ 30 และระบายลงแม่น้ำโขง ที่อำเภอท่าอุเทน ไม่ได้ก็เริ่มเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรแล้วกว่า 3 พันไร่เช่นกัน