สังคม

'บิ๊กตู่' ลงพื้นที่บ้านมูโน๊ะ สั่งเยียวยาผู้ประสบเหตุโกดังพลุระเบิด ด้านเจ้าของเตรียมมอบตัว

โดย panwilai_c

4 ส.ค. 2566

47 views

ผ่านมา 1 สัปดาห์เหตุโกดังพลุไฟระเบิดที่ตำบลบ้านมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 12 คนบาดเจ็บอีกจำนวนมาก บ้านเรือนประชาชนพังเสียหายอีกหลายร้อยหลังคาเรือน ส่วนเจ้าของโกดังยังคงอยู่ระหว่างหลบหนี



วันนี้ (4 ส.ค. 66) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ และให้กำลังใจประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน พร้อมตรวจติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างบ้านที่ได้รับความเสียหาย



พลเอกประยุทธ์ ได้ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างบ้าน ที่ได้รับความเสียหาย จากเหตุการณ์โกดังพลุไฟระเบิดที่บ้านมูโน๊ะ ที่โกดังเก็บพลุไฟระเบิดเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ ให้ซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียให้มีความมั่นคงแข็งแรงกว่าเดิม พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคให้กลับมาใช้ได้เหมือนเดิม และเร่งสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่มีส่วนได้เสียอย่างเด็ดขาด



ทางด้านพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บอกว่า สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของแต่ละหน่วยงานที่จะดูแล



แต่สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด ซึ่งมีปัญหาทั้งเรื่องความแออัด และปัญหาน้ำท่วม จึงจะใช้แนวทางการปฏิรูปที่ดิน เพื่อจัดรูปแบบใหม่ รวมถึงจะมีการพิจารณาเรื่องแหล่งเงิน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมและอยู่ดีกินดีขึ้น



ส่วนการดำเนินคดีกับเจ้าของโกดังที่หลบหนีไปต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด พลเอกอนุพงษ์เปิดเผยว่าขณะนี้กำลังดำเนินการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นใคร ขอให้ประชาชนเข้าใจ จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะบุคคลที่ทำให้เกิดเหตุนี้ขึ้น



ส่วนนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า กระทรวง พม. ได้วางแผนการช่วยเหลือฟื้นฟูครอบครัวเปราะบางที่ประสบภัยแล้ว โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะวิกฤต จะมีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และหน่วยงานทีม One Home พม. ร่วมกับจังหวัดนราธิวาส ลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูลครอบครัวเปราะบางที่ประสบภัย พบว่า มีเด็ก 452 คน ผู้สูงอายุ 516 ราย คนพิการ 16 ราย และผู้ป่วยติดเตียง 8 ราย อีกทั้งจะมีการจัดกิจกรรมบำบัดฟื้นฟู ระยะกลาง เป็นการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้กับครัวเรือน 682 หลัง วงเงิน 12.27 ล้านบาท



โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. สนับสนุนเงินค่าก่อสร้างที่พักชั่วคราว ครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท หรือค่าเช่าบ้านตามการจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน และไม่เกิน 6 เดือน รวมเป็นเงินไม่เกิน 18,000 บาทต่อครัวเรือน และสนับสนุนเงินค่าซ่อม/สร้างที่อยู่อาศัยถาวรเบื้องต้น หลังละ 30,000 บาท รวมทั้งสิ้น 88 หลัง วงเงิน 2.64 ล้านบาท



นอกจากนี้ มีการช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ต่างๆ วงเงิน 1.81 ล้านบาท ตลอดจนการใช้เครือข่ายทีมสหวิชาชีพ ในพื้นที่ช่วยเหลือครอบครัวเปราะบาง และ ระยะยาว สนับสนุนเรื่องการพัฒนาทักษะอาชีพ กองทุนเพื่อประกอบอาชีพ และการซ่อม สร้างที่อยู่อาศัยถาวร รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ ซึ่งทั้งหมดเป็นการช่วยเหลือของกระทรวง พม. เพื่อคืนความสุขให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด



ล่าสุด พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกว่า สองสามีภรรยาที่เป็นของเจ้าของโกดังพลุไฟ ติดต่อมาจะขอเข้ามอบตัววันพรุ่งนี้ หลังหลบหนีเข้ารัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังย้ำว่า คดีนี้เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบ และถูกดำเนินคดีตาม มาตรา157



พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าการสืบสวนเหตุโกดังพลุไฟระเบิดที่ชุมชนตลาดมูโน๊ะ จังหวัดนราธิวาสว่า ล่าสุด ผู้ต้องหาสองสามีภรรยาได้ติดต่อขอเข้ามอบตัวแล้ว หลังจากหลบหนีไปยังรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยจะเข้ามอบตัวกับผู้บังคับการตำรวจภูธรเมืองนราธิวาส ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนราธิวาสในช่วงบ่าย วันที่ 5 สิงหาคมนี้



สำหรับคดีนี้ไม่มีความซับซ้อน ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจากการตรวจสอบไม่พบว่ามีนักการเมืองหรือกลุ่มคนมีสีอยู่เบื้องหลังแต่อย่างใด เพียงแต่โกดังดังกล่าวได้มีการขออนุญาตประกอบกิจการโดยไม่ถูกต้อง คือ ไม่ได้ระบุประเภทของกิจการในใบอนุญาต ซึ่งเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐผู้ออกใบอนุญาตและบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ ถูกดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 157 อย่างแน่นอน แต่จะมีกี่คนนั้นอยู่ระหว่างการสอบสวน โดยเบื้องต้นมีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบทั้งหมด 5 หน่วยงานประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข



ส่วนกรณีที่มีการระบุว่าผู้ประกอบการมีการจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้น ขณะนี้ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ซึ่งพบเส้นทางดังกล่าวแล้ว เช่นเดียวกับเส้นทางการเงินของ อสม.ด้วย



อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อ ไม่ใส่ใจของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงต้องมีการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดใช้แดนภาคใต้ ที่กำหนดให้กรณีมีผู้เสียชีวิตจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องได้ค่าชดเชยศพละ 500,000 บาทด้วย



นอกจากนี้ ยังต้องมีการตรวจสอบไปถึงกรณีที่ก่อนหน้านี้อัยการสั่งไม่ฟ้องในคดีเดียวกันเมื่อปี 2559 ว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อนำมาประกอบและปรับปรุงให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ