สังคม

ขีดเส้น 7 วัน นิติฯ-ลูกบ้าน 'แอชตัน อโศก' เรียกร้อง 'บ.อนันดา' แจงมาตรการเยียวยา

โดย nut_p

3 ส.ค. 2566

132 views

กรุงเทพมหานครให้เวลาบริษัทอนันดา 30 วัน เพื่อแก้ปัญหาโครงการแอชตัน อโศก และอาจขยายเวลาต่อได้หากมีเหตุอันควร ขณะที่ผู้ว่า กทม.ระบุว่ามาตรการแก้ไขเป็นไป ตามที่ระบุในกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องทุบอาคารในทันที ขณะที่นิติบุคคลและผู้ซื้อห้องพักในคอนโดนี้ เรียกร้องให้บริษัทอนันดาในฐานะเจ้าของโครงการ กำหนดมาตรการเยียวยาผู้ซื้อห้องให้ชัดเจน ภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นจะดำเนินคดีด้วย



นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยระหว่างแถลงข่าวว่า พรุ่งนี้สำนักการโยธา จะออกหนังสือถึงบริษัทอนันดา ที่เป็นเจ้าของโครงการแอชตัน อโศก เพื่อแจ้งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 41 ของ พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522



จากนั้นจะให้เวลาบริษัทอนันดา 30 วัน เพื่อแก้ไขทางเข้า-ออก ของโครงการให้ถูกต้องตาม คำสั่งศาล หากแก้ไขแล้วเสร็จ ก็สามารถยื่นขอใบอนุญาตใหม่ได้อีกครั้ง หรือหากไม่แล้วเสร็จและมีเหตุอันควร ก็ให้ขอขยายเวลาได้ เว้นแต่เมื่อขยายเวลาไปแล้วยังแก้ไขไม่แล้วเสร็จ ก็ต้องรื้อถอนตามมาตรา 42 ของ พรบ.ควบคุมอาคาร



นายวิศณุ ยังได้ลำดับเหตุการณ์ ที่โครงการยื่นขออนุญาตก่อสร้างตามกฎหมายควบคุมอาคาร เมื่อปี 2557 จากนั้นขอดัดแปลงอาคาร ในปี 58 และ 59 ซึ่งในปีเดียวกันนั้น มีผู้ฟ้องร้องต่อศาลและโครงการได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อมา ในปี 2560 กทม.จึงออกใบรับรองการก่อสร้างให้



ซึ่งใบอนุญาตก่อสร้างที่ กทม.ออกให้เป็นประเภท "ใบรับแจ้งก่อสร้าง" ถือเป็นใบอนุญาตประเภทหนึ่ง ที่ใช้กับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ มีวิศวกร,สถาปนิก ควบคุมตาม หลักวิชาชีพและการควบคุมการก่อสร้าง โดยผู้ก่อสร้างสามารถยื่นขอตามมาตรา 39 ทวิ แล้วก่อสร้างได้



ใบอนุญาตประเภท "ใบรับแจ้งก่อสร้าง" ที่โครงการแอชตันได้รับนี้ แตกต่างจากประเภท "ใบอนุญาตก่อสร้าง" ซึ่งต้องมีรายละเอียดเต็มรูปแบบเพื่อเสนอให้ กทม.พิจารณา ว่าจะให้ก่อสร้างได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม กทม.พบว่าโครงการนี้ มีประเด็นเรื่องทางเข้า-ออก ตั้งแต่แรก จึงตั้งข้อสังเกตไว้ และเป็นเงื่อนไขในใบอนุญาต ตั้งแต่ปี 2558 และ 2560 ว่า หากมีปัญหาเรื่องนี้ เอกชนผู้พัฒนาโครงการ ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้



ขณะผู้ว่า กทม.ระบุว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายและคำพิพากษาไม่ได้เอื้อประโยชน์ฝ่ายใด และย้ำว่าการแก้ไขตามมาตรา 41 คือให้แก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ให้ทุบในทันที



ขณะที่กรรมการนิติบุคคลและเจ้าของห้องในโครงการแอชตัน อโศก เรียกร้องให้บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จากญี่ปุ่น ที่เป็นผู้พัฒนา โครงการนี้ นัดพูดคุยกับลูกบ้านเพื่อชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหาและเยียวยาภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นจะดำเนินทางกฏหมายในฐานะผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

คุณอาจสนใจ

Related News