สังคม

กกท.รับ 'สนามราชมังฯ' มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ ขาดงบประมาณปรับปรุง ทำแมตช์สเปอร์ส-เลสเตอร์ถูกยกเลิก

โดย panisa_p

24 ก.ค. 2566

118 views

เมื่อแฟนฟุตบอลผิดหวังกับการไม่ได้ชมฟุตบอล นัดกระชับมิตร ระหว่าง ทีมท็อตแนมฮ็อตสเปอร์ส และเลสเตอร์ซิตี้ เนื่องจากสภาพสนามมีน้ำท่วมเจิ่งนอง ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จนต้องยกเลิกการแข่งขันไปเมื่อวานนี้



ก่อนการแข่งขันเจ้าหน้าที่มีการทดสอบสนาม ซึ่งทีมท๊อตแนมฮ็อตสเปอร์ส ปฏิเสธที่จะลงเล่น เนื่องจากเกรงว่านักเตะจะได้รับบาดเจ็บ และไม่สามารถเลื่อนเวลาการแข่งขันออกไปได้ ทีมข่าวได้ติดต่อไปยัง ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยหรือ กกท. ถึงสภาพสนาม ที่เป็นต้นเหตุไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งผู้ว่าการกีฬายอมรับว่า สนามกีฬาราชมังคลา เป็นสนามเก่ามาตั้งแต่ปี 2541 นาน 25 ปีแล้ว



อีกทั้งสนามได้ยกสูงขึ้นมาเหนือจากพื้นดิน ชั้นล่างเป็นลานจอดรถ ต่างจากสนามใหม่ของหลายประเทศที่สนามสร้างติดพื้นดิน ทำให้ระบบระบายน้ำทำได้รวดเร็ว อีกทั้ง กกท.ถูกตัดงบประมาณ จาก 2,600 ล้าน เหลือ 1,600 ล้าน หากจะมีสร้างสนามใหม่ ขณะนี้มีแนวความคิดในการร่วมมือกับภาคเอกชน



ขณะเดียวกันทีมข่าวได้ดูสภาพสนามในวันนี้ พบว่า สนามได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม สนามยังชุ่มไปด้วยน้ำจากปริมาณฝนตก จากสภาพสนามที่ยกสูงขึ้นมาจากพื้น ทำให้ระบายน้ำได้ช้า โดยข้างสนาม มีท่อระบายน้ำ 8 ท่อ ลักษณะเดียวกันทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน รวมทั้งปัญหาท่อตัน



ทีมข่าว 3 มิติได้สอบถามไปยังผู้มีประสบการณ์ในการจัดงานแข่งขัน เดอะแมตช์ ระหว่างทีมลิเวอร์พูล และแมนยู ว่าหากฝนตกหนัก สนามราชมังคลา จะเปรียบได้กับสระน้ำลอยฟ้า เมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้วก่อนแข่ง ได้ตระเตรียมงานล่วงหน้าถึง 3 เดือน ทั้งเปลี่ยนหญ้า เปลี่ยนชั้นดินทราย ไปจนถึงลอกท่อ



และก่อนการแข่งขัน ฝนตกอย่างหนัก วัดได้ 40 มิลลิเมตร น้ำท่วมตั้งแต่อัฒจันทร์ จนเจิ่งนองทั่วสนาม แต่ระบายได้ภายใน 30 นาที หากระบายไม่ได้ จะไม่ผ่านมาตรฐานของต่างชาติ โดยทีมตรวจสอบตรวจตั้งแต่ผิวสนามหญ้า ความเร็ว Speed ball จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง



เมื่อต้องใช้สนามราชมังคลาฯ ในการจัดงานใหญ่ ในช่วงฝนตก จึงมีคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ และทำสำเร็จมาแล้ว ว่าต้องหาวิธีการระบายน้ำให้เร็วที่สุด แม้กระทั่งการตัดหญ้า ก็ไม่สมควรทิ้งไว้ในสนาม เพื่อเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำลงสู่ด้านล่าง อีกทั้งก่อนแข่งขัน ต้องทำให้ท่อระบายน้ำใต้สนามไหลเร็วที่สุด

คุณอาจสนใจ

Related News