สังคม
ป.ป.ช.เริ่มใช้ 'กลไกสหยุทธ์' ต้าน-ลด จนท.รัฐทุจริตตั้งแต่ต้นทาง
โดย panwilai_c
5 ก.ค. 2566
252 views
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เริ่มต้นใช้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ โดยกำหนดรูปแบบให้ใช้ประโยชน์ จากฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่นสถิติคดี หรือการแจ้งเบาะแสของภาคประชาชนในประเด็นที่มีความเสี่ยง เพื่อเป็นการตัดตอน ไม่ให้เกิดการทุจริตที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ลงพื้นที่ตรวจสอบการลักลอบตัดไม้มะค่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา จังหวัดศรีสะเกษ ที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของขบวนการมอดไม้จากประเทศกัมพูชา ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลยืนยันว่าพบการข้ามแดนเข้ามาตัดไม้มากขึ้นกว่าเก่า
ภาพมุมสูงแสดงให้เห็นจุดที่ถูกลักลอบตัดไม้ ซึ่งมีลักษณะเป็นวงกว้างหลายจุด แต่ละจุดอยู่ห่างกันไม่มากนัก เป็นร่องรอยที่เกิดขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศกัมพูชาเพียงไม่กี่กิโลเมตร
เจ้าหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและทหาร เดินทางเข้าไปตรวจสอบ เพราะไม้ของกลางบางส่วนที่เจ้าหน้าตรวจยึดไว้ไม่สามารถขนย้ายออกมาได้
จุดที่พบการตัดไม้มี 3 จุด อยู่ใกล้กันไม่กี่ร้อยเมตร แต่เป็นไม้มะค่าขนานใหญ่ที่ไม่สามารถขนย้ายออกไปได้ เจ้าหน้าที่ต้องใช้วิธีเผาทำลาย เพื่อป้องกันไม้ถูกขโมยซ้ำอีกครั้ง
ภารกิจสำรวจพื้นที่ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ ของ ป.ป.ช. จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ที่ถูกนำมาใช้เพื่อตัดตอนการทุจริตที่อาจเกิดจากตัวเจ้าหน้าที่เอง
โดยเฉพาะการลักลอบตัดไม้หวงห้ามหรือการนำไม้หวงห้ามออกจากที่ดินป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ
เพราะภารกิจเหล่านี้ต้องมีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้อง การป้องกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นจึงอาจเป็นแก้ปัญหาที่เห็นผลเร็วที่สุด รวมทั้งลดการใช้งบประมาณและระยะเวลาดำเนินการด้วย
โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เป็นการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเดิมที่สำนักงาน ป.ป.ช. เก็บรวบรวมไว้ก่อนแล้ว เช่นสถิติคดี หรือการแจ้งเบาะแสของภาคประชาชน
โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ทุกจังหวัด จะกำหนดปัญหาโดยใช้ 2 หัวข้อสำคัญ คือประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริต และพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากที่สุด