สังคม

'เสรีพิศุทธ์' มองหลักสูตรกอส. เลื่อนยศ ตร.แบบฟาสต์แทร็ก เอาเปรียบ แต่ไม่เลวร้ายเท่าตั๋วช้าง

โดย panwilai_c

9 มิ.ย. 2566

177 views

กรณีนักร้องสาว-อดีตผู้ประกวดนางงาม ได้เลื่อนยศจากสิบตำรวจตรี ขึ้นเป็นร้อยตำรวจเอก ภายในเวลาเพียง 4 ปี เเม้ทางโฆษกสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ จะออกมาชี้เเจง-ยืนยันว่า การเเต่งตั้งเป็นไปตามระเบียบ เเต่สำหรับข้าราชการตำรวจชั้นประทวนส่วนหนึ่ง ก็ยังคำถามถึงความเหลื่อมล้ำในหลักสูตรกอส. ล่าสุด มีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ ส่วนผู้กองแคท อาทิติยา เคลื่อนไหวครั้งแรก ขอโทษเพื่อนตำรวจ-ไม่มีเจตนาโพสต์ติดยศอวดอ้าง



หลังกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียล ล่าสุด ร.ต.อ.หญิง อาทิติยา ตัดสินใจลบรูปภาพที่ให้พ่อกับแม่ประดับยศให้ ทั้งในเฟซบุ๊กและอินสตราเเกรม



ล่าสุดเธอออกมาเคลื่อนไหว โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชี้แจงว่า "ไม่ได้มีเจตนาโพสต์เพื่ออวดอ้างหรือไปกระทำการสิ่งใด เพื่อไปกระทบจิตใจเพื่อน ๆ พี่ ๆ ข้าราชการตำรวจและทุกฝ่ายแต่อย่างใด กราบขอโทษอย่างสูงที่กระทำการดังกล่าว โดยไม่ได้ไตร่ตรอง"



จากโพสต์นี้ มีคนเข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก เช่น บางคนตั้งคำถาม "อยากทราบว่าในระยะเวลา 4 ปี มีผลงานอะไรบ้างถึงได้ยศนี้มา" หรือบางคอมเมนต์ บอกว่า ควรชี้แจงตำแหน่งที่ได้มา แต่ละโพสต์คุณทำงานรับราชการแค่เดือนละครั้ง ที่เหลือธุรกิจส่วนตัวล้วน ๆ ประชาชนที่จ่ายภาษีควรรับรู้ถึงการได้รับตำแหน่งนี้



พลตำรวจโท อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้เเจงอีกครั้งในวันนี้ โดยบอกว่า ผู้กองแคท หรือ ร้อยตำรวจเอกหญิง อาทิติยา เบ็ญจะปัก รองสารวัตรกลุ่มงานวิชาการและงานสารบรรณ สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจ และบุคคลที่บรรจุ หรือโอนเข้ามาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ชื่อย่อคือหลักสูตร กอส.



เหตุผลคือ สำนักเลขานุการตำรวจแห่งชาติ มีตำแหน่ง พิธีกรในงานสำคัญที่ว่างอยู่ จึงเปิดรับสมัคร โดยบรรจุเป็นยศ "สิบตำรวจตรี" ก่อน จากนั้นไปอบรม กอส. จึงเลื่อนขึ้นเป็น"ร้อยตำรวจตรี" และเลื่อนชั้นยศตามระเบียบของ ก.ตร. ในรุ่นเดียวกับผู้กองแคท มีประมาณ 300 คน ไม่มีใครที่ขึ้นยศเร็วหรือช้ากว่าใคร ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดเวลา และหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้



การขาดแคลนก็เป็นอีกหนึ่งวิธี ที่จะสามารถเปิดรับบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นตำรวจได้ เช่น ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ



พลตำรวจโท อาชยน บอกว่า ไม่มีคำสั่งห้ามให้ตำรวจใช้สื่อสังคมออนไลน์ แต่ตำรวจต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ และดูเรื่องความเหมาะสมในการโพสต์ ส่วนกรณีที่เปิดรับบุคคลภายนอกเข้ามา แล้วพบว่า เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหลายรูปแบบนั้น จากนี้ จะต้องรัดกุมในการตรวจสอบประวัติให้มากขึ้น



ประเด็นนี้มีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็น หนึ่งในนั้นก็คือ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย โดยบอกว่า ระเบียบหลักสูตรกอส. นี้มีมานานแล้ว แต่มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ครั้งล่าสุด เมื่อปี 2558 ในสมัย พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง



เจตนาของระเบียบหลักสูตรนี้ คือ ช่วยเหลือลูกหลานข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิต รับคนที่มีความรู้ความสามารถ ที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ เช่น นักกีฬาทีมชาติ เพราะสามารถนำความรู้ความสามารถ มาเป็นครูสอนให้ตำรวจไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้ แต่การรับคนที่มีคุณวุฒิพิเศษที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติผลิตเองไม่ได้ จริง ๆ ต้องการเพียงแค่ไม่กี่สาขา เช่น แพทย์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม แต่สาขานิเทศศาสตร์ ส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่วุฒิที่ตำรวจต้องการหรือขาดแคลน



เพราะฉะนั้นการที่ผู้บังคับบัญชาบิดหลักเกณฑ์ เอาลูกหลานของตนเองและพรรคพวก รวมถึงลูกหลานของกลุ่มนายทุนและนักการเมือง เข้ามาบรรจุเป็นนายสิบ แล้วพอถึงเวลาก็เปิดอบรม 4 เดือน เพื่อติดยศ เป็นการเอาเปรียบประชาชน เพราะไม่ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้สอบแข่งขันกัน



พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ ทิ้งท้ายว่า หลักสูตร กอส. นี้ ยังไม่ร้ายแรงเท่าเรื่องตั๋วช้าง เพราะอย่างน้อยก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และการเลื่อนยศ ก็ไม่ได้หมายความว่าได้เลื่อนตำแหน่ง แม้จะได้เลื่อนจาก ร.ต.ต. มาเป็น ร.ต.อ. ในเวลาไม่กี่ปี แต่ตำแหน่งก็ยังคงเป็นรองสารวัตร แต่ถ้าเป็นตั๋วช้าง สามารถให้เลื่อนได้เลยปีละตำแหน่ง จากผู้กำกับการ ไม่นานก็ได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้

คุณอาจสนใจ

Related News