สังคม

สำรวจโครงการนำร่องวางแนวปะการังเทียม นอกชายเกาะพะงัน พบความสมบูรณ์-สัตว์น้ำเพิ่มขึ้น

โดย chiwatthanai_t

3 พ.ค. 2566

101 views

โครงการนำร่องวางปะการังเทียม นอกชายเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังเข้าสู่ปีที่ 4 ข่าว 3 มิติวันนี้เราไปติดตามความคืบหน้าล่าสุดของโครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานที่ดำเนินโครงการ


นี่คือภาพล่าสุด บริเวณแนวปะการังเทียมที่ใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมมาจัดวาง ซึ่งนักถ่ายภาพใต้น้ำและนักดำน้ำอาสาสมัครร่วมกันบันทึกภาพไว้ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะฉลามวาฬ ที่ว่ายเข้ามาระหว่างที่ทีมดำน้ำกำลังขึ้นสู่ผิวน้ำวิคทอเรีย เฟร (Victoria Fahey) และ รัตนาวดี ตันติทวีรุ่งโรจน์ นักดำน้ำอาสาสมัครที่มาร่วมดำน้ำติดตามความคืบหน้าของพื้นที่วางปะการังเทียม ระบุว่าแหล่งดำน้ำแห่งนี้มีความสมบูรณ์และสวยงามแล้ว


โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม มาจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการเมื่อปี 2562


จากนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะทำงานได้เคลื่อนย้ายขาแท่นด้วยเรือยกขนาดใหญ่ จากพื้นที่หมดอายุสัมปทาน โดยการเคลื่อนย้ายขาแท่น เป็นการลากในแนวดิ่งที่มีบางส่วนอยู่ใต้น้ำตลอดเวลา ด้วยความเร็วต่ำ เพื่อให้ฝูงปลาบางส่วนว่ายน้ำตามไปพร้อมกัน เมื่อถึงจุดหมายเรือยกได้วางขาแท่นลงตามตำแหน่งที่กำหนด จากนั้นจึงดึงขาแท่นให้นอนลงกันพื้นท้องทะเล


ข้อมูลจากการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนทุกหน่วยงานกับชาวประมงพื้นบ้านและตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นตรงกันว่าแหล่งปะการังเทียมที่วางโดยใช้ขาแท่นปิโตรเลียม หรือ หลักแก๊ส ตามคำเรียกของชาวประมงในท้องถิ่น ทำให้สัตว์น้ำเพิ่มขึ้น

รายงานการศึกษาหลังจากการจัดวางปะการังเทียมโดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าขาแท่นปะการังเทียม มีการปกคลุมของสิ่งมีชีวิตเกาะติด โดยมีปะการังดำเป็นกลุ่มเด่นประมาณร้อยละ 30 ถึง ร้อยละ 70 และมีการปกคลุมโดยปะการังอ่อนเพิ่มขึ้นเกือบเต็มทั้งพื้นที่


ส่วนแนวโน้มในอนาคตของแหล่งปะการังเทียมแห่งนี้รายงานการศึกษาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่าที่นี่จะเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของชาวประมงในพื้นที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวดำน้ำในอนาคต โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

คุณอาจสนใจ