สังคม

นักวิจัยคิดค้นตุ๊กตาแก้บนรักษ์โลก วัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อม แทนม้าลายแบบเดิม

โดย panwilai_c

1 เม.ย. 2566

428 views

สำหรับสายมูที่กำลังมองหาของแก้บนอยู่ในตอนนี้ นักวิจัยจากไบโอเทค สวทช. ได้คิดค้นนวัตกรรม Zero Pollution Zebra หรือ ตุ๊กตาแก้บนรักษ์โลก ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ โดยใช้ไมซีเลียม เส้นใยจากเห็ดรามาสร้างความแข็งแรง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ตุ๊กตาแก้บนตัวนี้สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ช่วยลดปัญหาประชากรม้าลายล้นถนนจนกีดขวางทางสัญจรได้



ตุ๊กตาแก้บนรูปสัตว์ต่างๆ พวกนี้ อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน พบเจอได้ทั่วไปตามศาลพระภูมิ หรือ ศาลเพียงตา ที่ผู้คนมักนำมาใช้ แก้บน ตามความเชื่อ หลังการบนบาลศาลกล่าวสำเร็จผล เช่น ที่ศาลพระพรหมเมืองเอกแห่งนี้ ขึ้นชื่อเรื่องความสำเร็จทางการศึกษา และหน้าที่การงาน



ผู้ดูแลสวนพระพรหมเมืองเอกเล่าว่า ที่นี่มักมีสายมูทุกเพศทุกวัยมาขอพรกันเป็นประจำ หลายคนเมื่อสมหวังดังตั้งใจแล้ว ก็จะนำสิ่งของที่รับปากไว้มาถวายให้ตามสัญญาที่ให้ไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักถวายม้าลายเป็นคู่ นานวันเข้าก็สะสมจนเป็นฝูงม้าลายอย่างที่เห็น ทำให้ทางสวนต้องคอยนำไปบริจาคส่งต่อเป็นประจำ



ม้าลายที่ถูกนำมาถวายจึงมีหลากหลายขนาด และเพิ่มจำนวนขึ้นในทุกวัน ซึ่งนานวันเข้าก็มักจะสร้างปัญหาด้านภูมิทัศน์ให้กับสถานที่ หากนำไปย่อยสลายก็จะเกิดเป็นปัญหาด้านมลพิษทางอากาศตามมาได้



หุ่นม้าลาย Zero Pollution Zebra ต้นแบบคิดค้นขึ้นโดยนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ร่วมกับโครงการเพื่อนสวนพฤกษ์ และ บริษัทเดนท์สุ ครีเอทีฟ ประเทศไทย นำวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร



มาขึ้นรูปบนแป้นพิมพ์ โดยใช้ไมซีเลียม จากเห็ดราเป็นตัวผสานวัสดุเข้าด้วยกัน จากนั้นก็นำมาอบเคลือบสร้างความแข็งแรงและแต่งเติมสีสันตามต้องการ



ดร.ณัฐวุฒิ บุญยืน นักวิจัยทีมวิจัยปฏิสัมพันธุ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค ระบุว่า จุดเด่นของม้าลายรักษ์โลก สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ กลับมาเป็นแร่ธาตุ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้เวลาราว 4-5 เดือนเท่านั้น สร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งให้เป็นประโยชน์ในการแปรรูปกลับมาใช้ใหม่เป็นผลิตภัณฑ์



นวัตกรรมนี้ไม่ได้มาเฉพาะเพื่อสายมูเท่านั้น การใช้ไมซีเลียมกับวัสดุธรรมชาติ ยังสามารถนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ได้อีก ซึ่งตอนนี้ทีมผู้พัฒนาอยู่ระหว่างการปรับขั้นตอนและลดต้นทุนการผลิตให้ถูกลง เพื่อต่อยอดสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ในอนาคต ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเข้ามาได้ทันทีที่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สวทช.

คุณอาจสนใจ

Related News