สังคม

ศาลฯพิพากษา กรมที่ดินละเลยในหน้าที่ ออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่เขากระโดงของการรถไฟฯ

โดย panwilai_c

30 มี.ค. 2566

217 views

ศาลปกครองกลาง พิพากษา คดีที่การรถไฟฯ ยื่นฟ้องกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินกรณีเอกสารสิทธิ​ทับซ้อนที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์​ ให้อธิบดีกรมที่ดิน ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินที่ออกทับที่การรถไฟ บริเวณแยกเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ รวม 722 แแปลง เนื้อที่กว่า 5,00ไร่



คดีนี้ การรถไฟ ฟ้องว่า ได้มีหนังสือลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ขอให้อธิบดีกรมที่ดิน ใช้อำนาจดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ และดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนในที่ดิน บริเวณที่เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟทั้งหมด



โดยมีคำขอให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อทำการสอบข้อเท็จจริง ในการออกหนังสือแสดงสิทธิทับที่ดินของการรถไฟในบริเวณดังกล่าว เพื่อสอบข้อเท็จจริง ในการออกหนังสือแสดงสิทธิทับที่ดินของการรถไฟ และขอให้กรมที่ดิน ชดใช้ค่าเสียหายปีละกว่า 707 ล้านบาท และค่าขาดประโยชน์รายเดือน เดือนละอีกเกือบ 59 ล้านบาทนับถัดจากวันฟ้อง



นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า วันนี้ศาลพิพากษาว่า กรมที่ดินละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน



โดยบอกว่า ที่ผ่านมา ยอมรับว่าการรถไฟฯ ไม่เคยมายื่นสอบเขตที่ดินเลย ซึ่งศาลได้สั่งให้ทั้งการรถไฟ​ฯ และกรมที่ดิน จะต้องตั้งคณะกรรมการ​ร่วมกันเพื่อให้เกิดความชัดเจน



ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะเรียกประชุมคณะกรรมการของกรมที่ดิน เพื่อดูว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ รวมถึงจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีนี้ด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายใน 60 วัน



อธิบดีกรมที่ดิน ยืนยันว่า หากพบว่าเป็นการออกเอกสารโดยมิชอบ เจ้าหน้าที่จงใจกระทำทุจริตจะดำเนินคดีอาญาต่อไป



โดยก่อนหน้านี้ มีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่วินิจฉัยว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของการรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375 + 650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟ ต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย



อีกทั้งที่ดินมีฐานะเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งสามารถใช้จัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปได้ หาใช่มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความ ประกอบกับ การรถไฟได้ตรวจสอบเอกสารทางทะเบียนจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า มีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนที่ดินของการรถไฟ จำนวน 850 แปลง แต่ การรถไฟดำเนินการคัดถ่ายเอกสารมาได้บางส่วน



และจากการตรวจสอบของคณะทำงานตามคำสั่งกรมที่ดิน เมื่อปี2565 พบข้อมูลหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเป็นโฉนดที่ดิน 396 ฉบับ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ 376 ฉบับ รวม 772 ฉบับ ส่วนความเสียหายทางแพ่ง ศาลระบุว่า ยังไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

คุณอาจสนใจ

Related News