สังคม

เครือข่ายชาวนาเรียกร้องรัฐบาลชุดใหม่ หามาตรการแก้ปัญหา เยียวยาหนี้สินเกษตรกร

โดย chiwatthanai_t

28 มี.ค. 2566

147 views

มรดกหนี้กลายเป็นปัญหาหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มเกษตรกรไทย หลังพบว่าจำนวนลูกหนี้ กว่า 1 ใน 4 จาก 5 ล้านราย ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีความเสี่ยงที่จะส่งต่อหนี้เสียนี้ไปสู่รุ่นลูกหลาน เวทีเสวนา หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ ได้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหานี้ผ่านงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางเสนอให้ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ทางมาตรการเยียวยาปัญหาหนี้สินเกษตรกรเหล่านี้


ชาวนาคนนี้ใช้โอกาสผ่านเวทีสาธารณะ หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิชีวิตไท มูลนิธิสัมมาชีพ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ สะท้อนข้อเท็จจริง ถึงปัญหาในระบบการเงิน ที่หลายพรรคการเมืองพยายามนำเสนอนโยบายการพักหนี้ มาแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งกระบวนการนี้ มีแต่จะเพิ่มภาระให้กับพวกเขาในระยะยาวแทน


ข้อมูลนี้เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มีชาวนาและเกษตรกรเป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. กว่า 4 ล้าน 8 แสนราย ในจำนวนนี้มีสัดส่วนลูกหนี้เกษตรกรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 1 ล้าน 4 แสนราย โดยพบว่าร้อยละ 24.4 ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในกลุ่มเกษตรกรอายุ 90 ปีขึ้นไป และสัดส่วนเกษตรกรที่มีหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดมีอายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไป ซึ่งหากหนี้ของเกษตรกรเหล่านี้ ไม่ได้รับการแก้ไขให้จบในรุ่นของพ่อแม่ ภาระหนี้เหล่านี้ก็จะตกต่อเนื่องไปถึงลูกหลานกลายเป็น "มรดกหนี้"


นักวิชาการทุกคนระบุตรงกันว่า การแก้หนี้สินชาวนาและเกษตรกร จึงไม่ใช่เพียงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนเกษตรกร ในระดับมหภาค การมีหนี้สินครัวเรือนในระดับสูงจะนำพาทั้งประเทศไปสู่กับดักการพัฒนา เนื่องจากภาระหนี้สูงจะฉุดรั้งการปรับตัวและการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ รวมทั้งการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต


มูลนิธิวิถีไท มองว่า ควรมีการปรับแก้ปัญหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม แก้ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน นโยบายส่งเสริมการเกษตรของภาครัฐที่มุ่งเน้นเกษตรเชิงเดี่ยวมาโดยตลอด การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การสร้างสถาบันทางการเมืองหรือองค์กรที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นตัวแทนของเกษตรกรอย่างแท้จริงให้ได้


สุดท้ายเวทีเสวนาได้สะท้อนถึงภาพรวมคือ ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกร ก็หนีไม่พ้นจากปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำ และที่ดินที่กระจุกตัวในมือนายทุน ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นต้องทำให้เสียงของชาวนา เกษตรกร และประชาชน แปรเป็นเจตจำนงทางการเมืองที่รัฐบาลต้องฟัง โดยอาศัยประชาธิปไตยผ่านเสียงประชาชน เพื่อสร้างกฎหมายและนโยบายที่จับต้องได้และปฏิบัติได้จริง

คุณอาจสนใจ