สังคม

เปิดเงื่อนไข การครอบครองวัสดุกัมมันตรังสีในประเทศไทย

โดย panwilai_c

20 มี.ค. 2566

134 views

ข่าว 3 มิติ ได้ตรวจสอบไปยังสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เพื่อหาข้อมูลเงื่อนไขการครอบครองวัสดุกัมมันตรังสี ซึ่งทางสำนักงานก็ยืนยันว่าหน่วยงานที่จะถือครองได้ต้องได้รับใบอนุญาต และทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นผู้พิจารณาผ่านเกณฑ์ตามข้อกฎหมายแล้วเท่านั้น โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัสดุกัมมันตรังสี และวัสดุนิวเคลียร์รวมแล้วกว่า 10,000 ชิ้น โดยเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 873 องค์กร



สารซีเซียม เป็นธาตุหรือสารประกอบที่อยู่ในหมวดวัสดุกัมมันตรังสี ตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ปี พ.ศ.2559 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่ครอบครองต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์และวิธีการ ตามมาตรา 19 ภายใต้กำหนดของกฎกระทรวง ก่อนได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ทั้งประเภทของนิติบุคคล และ ธรรมดา



เช่น นิติบุคคลเอกชน ในส่วน บริษัทจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน / ห้างหุ้นส่วนจำกัด และ มูลนิธิ ส่วนราชการ เช่น กระทรวง / กรม / จังหวัด และท้องถิ่น รวมไปถึงบุคคลธรรมดา เช่น สถานพยาบาลที่บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของ



ข้อมูลล่าสุดในวันนี้ จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า ไทยมีผู้จดทะเบียนใบอนุญาตครอบครองวัสดุกัมตภาพรังสีและนิวเคลียร์ รวมแล้ว 873 หน่วยงาน 1,543 ใบอนุญาต



มากที่สุดอยู่ในภาคอุตสาหกรรม จำนวน 694 ฉบับ 395 หน่วยงาน จำนวนวัสดุกัมมันตรังสี 5,445 ชิ้น รองลงมาคือ ภาคการศึกษาวิจัย 420 ฉบับ 294 หน่วยงาน จำนวนวัสดุกัมมันตรังสี 4,264 ชิ้น ด้านการแพทย์ 319 ฉบับ 142 หน่วยงาน จำนวนวัสดุกัมมันตภาพรังสี 871 ชิ้น และส่วนอื่นๆ รวมวัสดุกัมมันตภาพรังสี ทั้งหมด 11,184 ชิ้นในประเทศไทย



ในจำนวนนี้ มีวัสดุกัมมันตภาพรังสี ร้อยละ 93.6 และ วัสดุนิวเคลียร์ ร้อยละ 6.4 แบ่งเป็นชนิดที่ปิดผนึกแล้วกว่า 1,300 ชิ้น และ ยังไม่ได้ปิดผนึก ประมาณ 200 ชิ้น



นางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการ และ โฆษกสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องผ่านเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ความปลอดภัย ตามมาตรฐานที่กฎกระทรวงความปลอดภัยทางรังสี ปี พ.ศ.2561 ได้กำหนดไว้ ใน 6 หมวด คือ การดำเนินการด้านความปลอดภัยทางรังสี / การกำหนดพื้นที่ควบคุม / ติดตั้งสัญลักษณ์ / การป้องกันผู้ปฏิบัติงาน / การกำหนดปริมาณความเหมาะสมของค่ารังสี และ แผนป้องกันความมั่นคงและปลอดภัย ซึ่งจะต้องได้รับการอนุญาตจากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติก่อน



สำหรับความปลอดภัยของมาตรฐานการครอบครองวัสดุกัมมันตรังสี ข่าว 3 มิติ ได้รับการยืนยันจากโฆษกสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ว่าได้มีแผนการตรวจสอบปลอดภัยต่อเนื่อง ตามประเภทความเสี่ยงของรังสีเป็นระยะ เฉลี่ยปีละ 1 ครั้ง หรือ 2 ปี ครั้ง ตามประเภทของวัสดุ และ รอบของแต่ละหน่วยงานที่ได้รับใบอนุญาต จึงขอให้ประชาชนคลายความกังวล เรื่องผลกระทบจากวัสดุกัมมันตภาพชิ้นอื่นๆ

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ