สังคม

PM2.5 พุ่งเกินมาตรฐานทั่วไทย แพทย์เผยเสี่ยง 'มะเร็งปอด' พบเคสแล้วหลายราย

โดย panwilai_c

11 มี.ค. 2566

163 views

สถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่หลายพื้นที่ทั่วประเทศสูงเกินค่ามาตรฐานจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กเล็ก ซึ่งเมื่อวานนี้ไทยพบจุดความร้อนมากถึง 1,585 จุด แต่ที่มากกว่านั้นคือประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาที่มากกว่าไทยถึง 7 เท่า ที่กว่า 7,000 จุด



จิสด้าเปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมซูโอมิของเมื่อวานนี้ ไทยพบจุดความร้อนทั่วประเทศ 1,585 จุด แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 581 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 444 จุด พื้นที่เกษตร 249 จุดพื้นที่สปก 177 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 134 จุด จังหวัดที่พบมากที่สุดคือจังหวัดกาญจนบุรี 193 จุด



ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน สหภาพเมียนมาร์พบจุดความร้อนมากที่สุดมากถึง 7,239 จุด สปา ลาว 3358 จุด กัมพูชา 1657 จุด เวียดนาม 811 จุด และมาเลเซีย 14 จุด



เมื่อตรวจสอบไปที่แอปพลิเคชั่นเช็คเช็คฝุ่น พบว่าอีกหลายพื้นที่ของประเทศอยู่ในระดับเตือนภัยค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในเกณฑ์สีส้มและสีแดง ทั้งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ตาก น่าน พะเยา ลำพูน ลำปาง และ เลย ส่วนกรุงเทพมหานคร ทุกพื้นที่มีค่าฝุ่นละอองอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเขตบึงกุ่ม



ล่าสุดวันนี้เชียงใหม่มีค่ามลพิษทางอากาศสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยสภาพตัวเมืองทั้งตัวเมืองถูกปกคุมไปด้วยฝุ่นควันหนาทึบจนไม่สามารถเห็นดอยสุเทพได้เหมือนปกติ ซึ่งค่าดัชนีคุณภาพอากาศ Aqi เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในเขตอำเภอเมืองสูงถึง 210 และ อำเภอฮอด 237



แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินหายใจ จากหลายสถาบันที่ได้เก็บข้อมูลมาเป็นเวลา 5 ปี พบว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งปอด โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยขณะนี้พบผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่นในช่วง 2เดือน มากกว่า 1 ล้านคน ที่กรุงเทพฯมากกว่า 3 หมื่นคน ซึ่งผู้ป่วยจากโรคมะเร็งได้เรียกร้องให้รัฐเอาจริงกับกลุ่มที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ 



ภาพมุมสูงของเขตคลองเตย แสดงให้เห็นถึงปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่หนาแน่นเกินค่ามาตรฐานเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับอีก 70 พื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ป่วย



เช่นหญิงสาวรายนี้เพิ่งหายป่วยจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 4 ทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ แม้วันนี้นส.ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ บอกว่ากลับมาใช้ชีวิตปกติ หลังจากให้คีโมรักษาอาการป่วยจนหาย แต่มีอาการภูมิแพ้ หลังสูดอากาศซึ่งมีPM 2.5 เข้าไป อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในฐานะ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง จึงอยากให้รัฐแก้ไขต้นเหตุของฝุ่นPM ครั้งนี้โดยเร็ว เนื่องจากเด็กเล็กและผู้ป่วยมะเร็งปอด ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก



ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ได้โพสต์ผ่านโซเชียล ที่ลูกสาวเลือดกำเดาไหล และผืนขึ้นเต็มตัว รวมทั้งค่าออกซิเจนในเลือดต่ำมาก เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 สูง



ขณะที่อีกรายก็ได้โพสต์ ว่า พี่ชายย้ายไปอยู่จ.เชียงใหม่ 7 ปี มีอาการภูมิแพ้ และเลือดกำเดาไหลไม่มีสาเหตุ เมื่ออาการแย่ลง จึงย้ายกลับมาอยู่ กรุงเทพ และพบว่าป่วยเป็นมะเร็งโพรงจมูก

ทั้งที่ปกติเป็นคนแข็งแรง ไม่สูบบุหรี่ไม่ดื่มเหล้า



แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงให้เป็นมะเร็งโพรงจมูกจาก การติดเชื้อไวรัส สารก่อมะเร็งที่พบได้ในอาหารหมักดอง และการสูบบุหรี่ และงานวิจัยก็พบว่า PM เพ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งโพรงจมูกสูงเช่นกัน



รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระบุว่าขณะนี้พบผู้ป่วย ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เข้ามารักษาเฉลียวันละกว่า 50 ราย และจากการเก็บข้อมูลของกลุ่มนักวิชาการจากหลายสถาบัน ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล มา 5ปีพบว่า ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะที่จ.เชียงใหม่



สถานการณ์ของฝุ่นในปัจจุบันมี ระยะเวลานานเฉลี่ย 4-6 เดือน ขณะที่ ฝุ่นสะสมก็มีค่าสูงเกินมาตรฐาน ในกรณีเด็กเล็กเมื่อโตขึ้น ปอดจะไม่เติบโตเท่าที่ควร จะทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย



ด้านข้อเสนอสำหรับภาคประชาชนแนะนำให้กลุ่มที่ต้องทำงานในที่โล่งเช่นตำรวจจราจรผู้ขับขี่รถสาธารณะ ควรตรวจสอบค่าฝุ่นและสวมอุปกรณ์ป้องกัน และมีเวลาพักเพื่อหลบเข้าในอาคาร



ด้านมาตรการของหน่วยงานรัฐในแต่ละพื้นที่เสนอให้มีห้องปลอดฝุ่น ชุมชนเพื่อให้กลุ่มเสี่ยงเช่นผู้มีโรคประจำตัวผู้สูงอายุและเด็กเล็กใช้เป็นที่หลบในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่น มีค่าสูง เนื่องจาก การจัดหาเครื่องกรองฝุ่นเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับครัวเรือน ใน ลักษณะรัฐสวัสดิการควบคู่ไปกับมาตรการด้านการควบคุมและลดต้นต่อการเกิดฝุ่นที่ต้นเหตุด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News