สังคม

เปิดความเห็นนักวิชาการ เรียกร้องรัฐถอนร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ ชี้ไม่คุ้มครองเสรีภาพ

โดย panwilai_c

2 ก.พ. 2566

43 views

นักกฎหมาย นักวิชาการ และสื่อมวลชน เป็นห่วงการเร่งรัดเสนอร่างพระราชบัญญัติจริยธรรมสื่อ เข้าที่ประชุมรัฐสภา 7 กุมภาพันธ์นี้ อาจเป็นโซ่ตรวนล่ามเสรีภาพสื่อ ขอให้รัฐบาลถอนจากวาระเพื่อเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน



นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายและสิทธิ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เปิดประเด็นเรียกร้องให้สื่อมวลชนจับตากรณีที่ประชุมรัฐสภา นัดประชุมในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นี้ ซึ่งจะมีเรื่องเร่งด่วนในการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน



ซึ่งหากผ่านการพิจารณา 3 วาระรวด ก็จะบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ทันที แม้ร่างพระราชบัญญัติร่างขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 35 ที่รับรองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน แต่พบว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ครอบคลุมการส่งเสริมและคุ้มคองเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างแท้จริง เนื่องจากให้เป็นหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเพียงองค์กรเดียวเท่านั้น และไม่มีการคุ้มครองสื่อมวลชนกรณีถูกฟ้องปิดปาก รวมถึงยังแยกสื่อมวลชนที่จดแจ้งแลไม่จดแจ้ง ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ทั้งๆที่พลวัตสื่อมวลชนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก



นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้กรมประชาสัมพันธ์ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการสรรหากรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น ซึ่งในหลักการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนต้องเป็นอิสระจากอำนาจรัฐและการจัดการโดยรัฐ การเร่งรัดให้กฏหมายผ่านก่อนการเลือกตั้ง จึงต้องตั้งคำถามว่ารัฐมุ่งหวังอะไร รัฐบาลจึงควรถอนวาระนี้ไปก่อนจนกว่าจะฟังความเห็นอย่างรอบด้าน



รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม เห็นว่าจุดอ่อนของร่างกฏหมายฉบับนี้ ต้องมองไปที่อำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ที่อาจนำไปสู่การจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน เช่นในมาตรา 9 มาตรา 11 ที่กำหนดให้มีการขอจดแจ้งการทำงานสื่อต่อสภาวิชาชีพสื่อ อาจไม่ทันสมัยกับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศสื่อ



โดยก่อนหน้านี้สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย หรือ Demall ได้ยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 2,000 รายชื่อ เสนอต่อคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการสื่อสารมวลชน คัดค้านร่างกฏหมายนี้เพราะยังควบคุมไปถึงอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ รวมถึงไม่เห็นด้วยที่ให้หน่วยงานรัฐมากับกับสื่อเสรี และไม่เห็นด้วยที่มีการนำภาษีประชาชน 25 ล้านบาทให้กับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนให้มากำกับสื่อมวลชนด้วย



คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการสื่อสารมวงชนได้มีมติส่งความเห็นคัดค้านร่างพระราชบัญญัติจริยธรรมสื่อไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วนแล้ว และไม่เห็นด้วยที่จะเร่งรัดนำเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งอาจเอื้อต่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่

คุณอาจสนใจ