สังคม

มีผลบังคับใช้แล้ว! ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศคุมโฆษณาฉบับใหม่ ห้ามใช้ข้อความโฆษณาเกินจริง

โดย chiwatthanai_t

18 ม.ค. 2566

306 views

คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาออกประกาศควบคุมโฆษณาฉบับใหม่ ห้ามใช้ข้อความโฆษณาเกินจริง โดยต้องมีหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภคระบุ ปีที่ผ่านมา มีกรณีร้องเรียนในลักษณะนี้มากถึงกว่า 700 กรณี จนทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก ประกาศฉบับนี้จึงช่วยกำหนดแนวทางที่แน่ชัดซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค


นี่คือประกาศราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศควบคุมโฆษณาฉบับใหม่ เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์การโฆษณาและ คำโฆษณาที่เข้าข่ายไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค หรือการโฆษณาเกินจริง หลังปัจจุบันสินค้าและบริการต่างๆ สามารถโฆษณาได้อย่างง่ายและแพร่หลายหลากหลายช่องทาง ซึ่งมีลักษณะอวดอ้างข้อดีและโดดเด่นเพื่อเชิญชวนผู้บริโภค แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ตามที่อ้างอิงจนมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก


ข้อความที่ปรากฎจึงต้องชัดเจน ไม่กำกวมให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด หรือ บอกปัดความรับผิดชอบ เช่น การขอเปลี่ยนแปลงราคาและเงื่อนไขโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ภาพสินค้าที่ไม่ตรงกับรุ่นที่จัดโปรโมชั่น


ข้อความการอ้างอิงความเชื่อส่วนบุคคล เช่น เมื่อใช้แล้วเห็นผลทันที รับแก้เคราะห์กรรม พิธีเรียกคนรัก เสริมบารมี และข้อความชวนเชื่ออื่นๆ ข้อความรับประกันสินค้าหรือบริการ ต้องระบุเงื่อนไขชัดเจน ไม่สามารถกล่าวเป็นประโยคบอกเล่าได้ เช่น ปลอดภัยหายห่วง ไม่ถูกใจยินดีคืนเงิน หรือ รับประกันความพึงพอใจ และสุดท้ายคือข้อความยืนยันข้อเท็จจริง เปรียบเทียบ หรือ อ้างอิงงานวิจัย จะต้องมีหลักฐานยืนยันพิสูจน์ได้ เช่น ที่สุด สูงสุด ดีที่สุด ยอดขายอันดับ 1 เห็นผลร้อยเปอร์เซ็นต์


ซึ่งประกาศฉบับนี้อยู่ภายใต้บทลงโทษของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


โดยข้อมูลสภาองค์กรของผู้บริโภคระบุ ปี 2565 พบปัญหาผู้บริโภค รวม 15,470 กรณี เป็นปัญหาร้องเรียนด้านสินค้าและบริการ 2,985 กรณี โดยตัวอย่างกรณีล่าสุด คือ คอร์สสุขภาพคีเลชั่น หรือ การใช้เคมีล้างสารพิษในหลอดเลือด ซึ่งผู้บริโภคมักถูกชักชวนให้มาตรวจสุขภาพก่อนชักจูงเข้าคอร์สดังกล่าว โดยปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการพิสูจน์ชัดในความถูกต้องของสรรพคุณที่อ้างอิง ทำให้มีผู้ร้องเรียนเข้ามารวมแล้ว 17 ราย ในจำนวนเงินรวมกันกว่า 1 ล้าน 2 แสนบาท


สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เสนอให้มีการอบรมแนวทางการเขียนโฆษณาเพื่อให้เกิดมาตรฐานตามหลักการโฆษณาของประกาศฉบับนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นข้อความหรือได้รับความเสียหายจากการโฆษณาดังกล่าวสามารถร้องเรียนได้ที่เฟสบุค หรือ สายด่วน 1166 ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ.ได้ทันที

คุณอาจสนใจ

Related News