สังคม

ชาวเลเดินทางเข้ากรุงฯ จ่อยื่นหลักฐาน จี้แก้ปัญหาปมพิพาทที่ดิน 'เกาะหลีเป๊ะ'

โดย panwilai_c

15 ม.ค. 2566

70 views

ข่าว 3 มิติ ได้เกาะติดปัญหาที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะมาอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้ ตัวแทนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ได้รวมตัวเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐ เร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น



ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล อยู่ระหว่างการเดินทางมายังกรุงเทพมหานคร โดยตลอดเส้นทางมีเครือข่ายชาวเล ร่วมกันให้กำลังใจกับภารกิจทวงคืนแผ่นดินชาวเล โดยชาวเลเกาะหลีเป๊ะจะถึงกรุงเทพมหานครในวันพรุ่งนี้ 16 มกราคม ซึ่งมีกำหนดการจะเข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้คุ้มครองนักเรียนและที่ดินโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ที่เป็นหนึ่งในข้อพิพาทที่ดินกับเอกชน



และจะยื่นหนังสือต่อกระทรวงมหาดไทย ขอให้ติดตามการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ซึ่งมีข้อเสนอของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย เมื่อปี 2533 หรือเมื่อกว่า 33 ปีที่แล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินก่อน จากนั้นทั้งหมดจะเข้าพักที่หน้าองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน



ก่อนที่ในวันที่ 17 มกราคม จะยื่นหนังสือต่อยูเอ็น เพื่อเรียกร้องให้ประเทศไทยคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เป็นชาติพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมที่เป็นผู้บุกเบิกเกาะหลีเป๊ะ ทำให้แผ่นดินบริเวณนี้ตกเป็นของประเทศไทย และจะไปยื่นหนังสือต่อกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ในฐานะเป็นผู้ดูแลที่ราชพัสดุ เนื่องจากมีผู้อ้างเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ดินโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ที่มีผู้บริจาคให้เป็นที่ราชพัสดุ และยื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการทวงคืนที่ดินอุทยาน



และในวันที่ 18 มกราคม ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จะเข้ายื่นข้อมูลต่าง ๆ ให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นจะเปิดเผย ขบวนการฮุบที่ดินชาวเล ส่วนวันที่ 20 มกราคม เตรียมยื่นข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ให้กับนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง กรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ



ด้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง กรณีปัญหาข้อพิพาทที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ยืนยัน จนถึงตอนนี้ได้รับข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากคณะกรรมการหลายชุด ที่เคยตรวจสอบปัญหามาก่อนหน้านี้ จนครบถ้วนแล้ว โดยวางแนวทางการทำงาน คือ ต้องยึดหลักข้อเท็จจริง หลักกฎหมาย ต้องดูว่าการได้มาของที่ดินถูกหรือไม่ การถือครองเอกสารสิทธิ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องเริ่มจากตรงนี้ จากนั้นจะนำไปสู่การดำเนินคดี

คุณอาจสนใจ

Related News