สังคม

แพทย์เตือนเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์จากยุโรป ด้าน สธ.ยันมีมาตรการรับมือ นทท.

โดย panwilai_c

6 ม.ค. 2566

67 views

ความชัดเจน ของมาตรการรองรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีน โดยกระทรวงสาธารณสุขเสนอแนวทางไว้แล้วก่อนที่เที่ยวบินแรกจะมาถึง ในวันที่ 9 มกราคมนี้ ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยพบสายพันธุ์ลูกผสมเดลต้ากับโอมิครอนรายแรกในไทยแล้ว



นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยพบเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ XAY.2 จำนวน 1 คน ในประเทศ ซึ่งสายพันธุ์นี้เป็นลูกผสมระหว่างเชื้อเดลต้าสายพันธุ์ย่อย AY.45 กับ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/5 ที่ตอนนี้พบในทั่วโลกแล้วอย่างน้อย 344 คน



ส่วนกรณีที่จีนจะเปิดประเทศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่ระบาดในจีน กว่าร้อยละ 97 เป็นสายพันธุ์ BA.5.2 และ BF.7 ที่เป็นสายพันธุ์เดิม จึงยังไม่น่ากังวล



สำหรับสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่ระบาดอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา ก็ยังไม่พบในประเทศไทย โดยสายพันธุ์หลักของไทยยังคงเป็น BN.1.3 ที่เกี่ยวข้องกับ BA.2.75 ซึ่งมีความสามารถหลบภูมิและแพร่เร็วใกล้เคียงกับ XBB.1.5 ของสหรัฐ



ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวจากจีนไม่ได้น่ากลัวไปกว่ายุโรปและอเมริกา เนื่องจากที่ผ่านมาคนไทยติดเชื้อไปแล้วกว่าร้อยละ 70 หรือ ประมาณ 50 ล้านคน ทำให้คนไทยกว่าร้อยละ 96 มีภูมิต้านทานรับรู้แล้ว



ขณะที่สายพันธุ์ส่วนใหญ่ที่เคยระบาดในไทยและต่างชาตินำหน้าสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในจีนไปหมดแล้ว ตรงข้ามกับสายพันธุ์ที่ระบาดในยุโรป ซึ่งไม่เคยแพร่ระบาดในไทยมาก่อน จึงควรระวังสายพันธุ์ BQ1 และ BQ1.1 จากฝั่งตะวันตกมากกว่า โดยตอนนี้ไทยอยู่ในช่วงขาลงตามฤดูกาลที่เข้าสู่ช่วงหน้าร้อน และจะกลับมาระบาดอีกครั้งช่วงเดือนมิถุนายน จากนี้ไทยจึงควรเน้นฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นประจำในทุกปี



นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอมาตรการป้องกันเพื่อรองรับการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งอ้างอิงจากการสืบค้นและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ โดยเสนอให้รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และ 4 ให้ครอบคลุม เนื่องจากตอนนี้มีประชากรไทยไม่ถึงร้อยละ 50 ที่ได้รับเข็มกระตุ้นนี้



ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจหาเชื้อเชิงรุก เพื่อความแน่ชัดในความชุกของโรคที่มาจากนักท่องเที่ยว เช่น การสุ่มตรวจเชื้อ และ การสุ่มตรวจน้ำเสียจากเครื่องบิน เพื่อดูความเข้มข้นของเชื้อ ซึ่งสามารถจงจงไปที่เที่ยวบินเฉพาะจากจีนได้ รวมทั้งการสำรองยาแพกซ์โลวิด และ โมลนูพิราเวียร์ ไว้ใช้รักษาผู้ป่วยในอนาคต



เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอแนวทางควบคุมผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีน ซึ่งจะมีเที่ยวบินแรกเข้ามาในวันที่ 9 มกราคมนี้ โดยกำหนดให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจะต้องได้รับวัคซีโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม เน้นการตรวจ ATK เมื่อมีอาการ ขอความร่วมมือให้ผู้ที่มีอาการโรคทางเดินหายใจให้เลื่อนการเดินทาง เพื่อรักษาให้หายก่อนเดินทางเข้าไทย

คุณอาจสนใจ