สังคม

พาดูการทำไร่หมุนเวียน ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ ที่บ้านโปกกะโหล้ง จ.เชียงใหม่

โดย panwilai_c

27 พ.ย. 2565

406 views

รายงานชุด กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม วิถีใหม่ โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ วันนี้พาไปทำความเข้าใจ ไร่หมุนเวียน ที่บ้านโปกกะโหล้ง ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่



ที่แห่งนี้คือแปลงข้าวไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน โปกกะโหล้ง ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านกำลังเก็บข้าวไร่ในฤดูกาลผลิตปีนี้ เพื่อไว้กินในปีต่อไป และเหลือขายเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ส่วนหนุ่มสาวคู่นี้ เพิ่งช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าวในไร่หมุนเวียนร่วมกันเป็นปีแรก หลังเพิ่งแต่งงานกัน



บ้านโปกกะโหล้ง เป็นหมู่บ้านที่ล้อมรอบด้วยภูเขา ชาวบ้านที่นี่อยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อาชีพหลักคือทำไร่หมุนเวียน ด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา โดยตัวแทนชาวบ้านยืนยันว่าการทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย



"จริงๆแล้ว มันก็ไร่หมุนเวียนอยู่ดีแหละ ผมคิดว่าคนน่าจะเข้าใจผิด เป็นไร่เลื่อนลอย คือไร่เลื่อนลอย ทำไปเรื่อยๆ คิดว่าแบบนั้น คือเราไม่ได้ไปไหนหรอก เราหมุนสี่ห้าแปลงที่เรามีอยู่ คือเราไม่ได้ทำกับที่ ปีนี้แปลงที่หนึ่ง ปืที่สองแปลงที่สอง ปีที่สามแปลงที่สาม สุดท้ายวนมาแปลงที่หนึ่งอีก แปลงเดิมของเรา แต่ที่เขาไม่เข้าใจ เขานึกว่าผมไป ไปแล้วไปเลย จะไปได้ไง ไปอย่างนั้นพื้นที่มันไม่พออยู่แล้ว คือระบบการทำไร่หมุนเวียนมันมีระบบอยู่แล้ว จะทำยังไงให้ข้าวมันออกมาดี จะทำยังไงให้มันหมุนเวียนแล้วมาถึงจุดนี้ ถึงจุดเดิมแปลงที่หนึ่ง ทำยังไงให้ใบไม้สมบูรณ์ มันมีระบบของไร่หมุนเวียนตั้งแต่ปู่ย่า ตายาย"



การผลิตในไร่หมุนเวียนของชาวบ้านที่นี่ นอกจากข้าว จะมีพืช ผัก อยู่ในแปลง ที่เจ้าของไร่ใช้เป็นอาหารได้ตลอดฤดูกาลผลิต



"ไร่หมุนเวียนมันมีผักทุกอย่าง ก่อนที่เราจะหยอดข้าว ผสมลงไปในกระสอบเลย กระสอบข้าว เมล็ดข้าวที่เราจะปลูก ผสมลงไปเลย ใส่ย่าม ผู้หญิงเดินตาม หยอด ทุกอย่างจะลงในหลุมหมดเลย ตอนที่ขึ้น ไม่ใช่ว่าเราจะกินพร้อมกันเลยนะ ตอนแรกเราจะได้กินผักกาดก่อน ตามมาด้วยผักชี ตามมาด้วยห้อมวอ แตงกวา ฟักทอง มีมัน เผือก ทุกอย่างอยู่ในไร่หมุนเวียนหมดเลย คือเราทำไร่ทั้งปี เราใช้พืชพวกนี้เป็นอาหาร"



ปัจจุบันเพื่อร่วมกันสร้างความชัดเจนในเรื่องพื้นที่ทำกิน ชาวบ้านที่นี่ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรพัฒนาเอกชนจัดทำแผนที่ทางภูมิศาสตร์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการพื้นที่ เนื่องจากขณะนี้ชาวบ้านยังมีปัญหาเรื่องสิทธิในพื้นที่ทำกิน แม้จะทำกินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่บรรพบุรุษ



จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ราว 1 ล้าน 8 ไร่ ที่รอกระบวนการพิสูจน์สิทธิ จัดทำแนวเขตที่ถูกต้อง ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากขณะนี้ภาครัฐ ประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน ได้มีแผนทำงานร่วมกันแล้ว

คุณอาจสนใจ