สังคม

ฟังนักวิชาการวิเคราะห์ แนวทางศาลฯ วินิจฉัย วาระ 8 ปีนายกฯ

โดย panwilai_c

29 ก.ย. 2565

419 views

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยคดี 8 ปี นายกรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ เวลา 15 นาฬิกา นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ลงนามในประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เวลา 19 นาฬิกาคืนนี้ 29 กันยายน จนถึงเวลา 6 นาฬิกา วันที่ 3 ตุลาคม ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เดินทางไปรับฟังคำวินิจฉัยโดยส่งฝ่ายกฏหมายไปแทน ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะติดตามผลอยู่ที่อาคารรัฐสภา



ส่วนกลุ่มหลอมรวมประชาชน นัดชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ด้านกลุ่มราษฎร นัดชุมนุมที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน หากพลเอกประยุทธ์ ยังได้เป็นนายกรัฐมนตรี ติดตามแนวทางคำวินิจฉัยและวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ



ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอ่านคำวินิจฉัยในเวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะทำคำวินิจฉัยส่วนตนในช่วงเช้า ซึ่งแนวทางการวินิจฉัยที่มีการวิเคราะห์มาตลอด จะมี 2 แนวทาง จากคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการรวบรวมรายชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ ซึ่งกำหนดให้นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี หากศาลเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปีแล้ว โดยนับตั้งแต่การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และครบไปแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ความเป็นนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง แต่หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์​ไม่ได้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตามที่พรรคร่วมฝ่ายค้านกล่าวหา ศาลอาจต้องระบุว่า การดำรงตำแหน่ง 8 ปี จะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งมีการคาดการณ์ใน 2 แนวทาง ว่าจะให้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 6 เมษยายน 2560 ที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะไปครบในปี 2568 หรือจะให้เริ่มตั้งแต่วันที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ไปสิ้นสุดในปี 2570 ซึ่งไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในแนวทางใด นักกฏหมายที่ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญก็ยังยืนยันในหลักการของกฏหมายรัฐธรรมนูญ ที่ความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565



ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ยอมรับว่าการวินิจฉัยขึ้นอยู่กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ที่ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก ว่าจะวินิจฉัยมาอย่างไร ซึ่งจะย่อมมีผลทางกฏหมายและทางการเมือง ซึ่ง รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี มองว่า หากศาลจะตีความเพียงคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะตีความว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วงเล็บ 4 หรือไม่ โดยไม่ได้บอกระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด



แน่นอนว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ย่อมส่งผลให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ โดยประธานรัฐสภา ต้องจัดให้มีการประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี ตามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีอยู่ ซึ่งขณะนี้จะเหลือเพียง 3 คน คือนายชัยเกษม นิติศิริ พรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย แต่ ผศ.ดร.ปริญญา ตั้งข้อสังเกตในกรณีรักษาการนายกรัฐมนตรี ที่มีช่องว่าทางกฏหมายด้วยว่า พลเอกประยุทธ์ อาจเป็นรักษาการณ์ในกรณีได้ด้วย แม้ในทางการเมืองอาจเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอยู่บ้าง



ขณะที่ รศ.ดร.สิริพรรณ​ นกสวน สวัสดี มองว่า หากพลเอกประยุทธ์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อไป อาจส่งผลต่อการปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อเสถียรภาพรัฐบาลก่อนการประชุมเอเปค แต่การยุบสภาอาจเกิดขึ้นได้ยาก เพราะต้องเตรียมเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง



และแน่นอนว่าหากศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องจับตาการเคลื่อนไหวในการชุมนุมต่อต้านพลเอกประยุทธ์ ที่มีการนัดหมายมาแล้วจากคณะราษฎรและเครือข่ายในเวลา 16 นาฬิกาที่สกายวอล์ค และคณะหลอมรวมประชาชน เวลา 17.00 น.ที่แยกราชประสงค์

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ