สังคม
10 สถาบัน จับมือแก้ปัญหาขาดแคลน 'นักฉุกเฉินวิทยา' ตั้งเป้าผลิตให้ได้ 1.5 หมื่นคน ใน 10 ปี
โดย panwilai_c
14 ส.ค. 2565
266 views
เราอาจจะไม่ค่อยได้ยินคำว่า นักฉุกเฉินวิทยา บ่อยนัก เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในรถฉุกเฉิน ส่วนใหญ่ เป็นกู้ภัย และจิตอาสา ก่อนที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จะจัดการฝึกอบรม จนเกิดหน่วยกู้ชีพประจำรถฉุกเฉิน จนถือเป็นพลิกโฉมการแพทย์ฉุกเฉินของไทย แต่หากมองไปถึงการสร้างหลักสูตรในมหาวิทยาลัย เพื่อผลิตนักฉุกเฉินทางการแพทย์ ยังอยู่ในวงจำกัด ทำให้ทั่วประเทศ เรามีนักฉุกเฉินวิทยาเพียง 800 คน ทั้งที่ความต้องการมากเกือบ 4 หมื่นคน
เจ้าหน้าที่กู้ชีพประจำรถฉุกเฉิน ที่ส่วนใหญ่เป็นจิตอาสา ที่ผ่านการฝึกอบรม มีทั้งสิ้นประมาณ 1 แสนคน ถือเป็นกำลังหลักที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีพื้นที่ในตำบลต่างๆทั่วประเทศกว่า 7 พันตำบล ที่ต้องการเจ้าหน้าที่ด้านฉุกเฉินทางการแพทย์ตำบลละประมาณ 5 คนทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน หากมองไปในอนาคต การพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินของไทย ต้องมุ่งสร้างบุคลากร ในระดับที่ นักฉุกเฉินทางการแพทย์ หรือนักฉุกเฉินวิทยา ต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ เพื่อเข้าไปเติมในพื้นที่ ที่ยังขาดแคลน
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นการนับหนึ่ง ที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ กระทรวง อว. และอีก 10 สถาบัน ได้แก่
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สถาบันพระบรมราชชนก และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ร่วมกัน สร้างหลักสูตรผลิตนักฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยตั้งเป้าผลิตให้ได้ 15,000 คน ใน 10 ปี หลังจากที่ผ่านมา ผลิตได้เพียงปีละ 180 คน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทย มีนักฉุกเฉินทางการแพทย์เพียง 800 คน เท่านั้น
การเปิดรับนักศึกษา จะเปิดในปีการศึกษา 2566 ผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทางเวบไซต์ของทั้ง 10 สถาบัน
แท็กที่เกี่ยวข้อง นักฉุกเฉินวิทยา ,หลักสูตรนักฉุกเฉินวิทยา ,ขาดแคลนนักฉุกเฉินวิทยา