สังคม

โครงการร่วมสร้างย่าน “พระโขนง-บางนา” สู่พื้นที่เกตเวย์ของกรุงเทพฯ ในอนาคต

โดย pattraporn_a

12 มิ.ย. 2565

207 views

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีเครือข่ายรัฐและเอกชน นำเสนอแนวทางสร้างย่านพระโขนงบางนา สู่การเป็นพื้นที่เกตเวย์ของกรุงเทพมหานครได้ในอนาคต


ปัจจุบันย่านพระโขนง-บางนา กลายมาเป็นพื้นที่ศักยภาพด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งกำลังประสบปัญหาด้านการขยายตัวของเมือง โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายนำเสนอแผนโครงการร่วมสร้างย่านพระโขนง-บางนา ใน ปี 2040 ผ่านผลงานการออกแบบของนักศึกษา ที่มองว่าเป็นพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจรอง สู่การเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์บูรณาการการพัฒนาพื้นที่ชายของในกรุงเทพมหานคร 


ย่านพระโขนง-บางนา กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จากจำนวนประชากรและพื้นที่เศรษฐกิจที่ขยายตัวเข้าสู่พื้นทึ่อย่างต่อเนื่อง โดยสังเกตได้จากระบบขนส่งทางรางที่เพิ่มส่วนต่อขยายเข้ามา เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีระยะทางยาวไปถึงสถานีเคะหะสมุทรปราการ


นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เชื่อมต่อกับศรีนครินทร์ บางนา-ตราด และสนามบิน ทำให้มีศักยภาพสูงจนถูกมองว่าสามารถพลิกบทบาทจากย่านชายขอบสู่เกตเวย์ของกรุงเทพมหานครได้


แต่หากพิจารณาในระดับย่านแล้ว ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แม้พื้นที่จะมีศักยภาพสูงในมุมมองของนโยบาย แต่หากมองในระดับพื้นที่แล้วยังยากต่อการปรับกายภาพของพื้นที่ให้รองรับการพัฒนา


ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านยุทธศาสตร์เมือง ร่วมกับภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำเสนอแนวทางการหาพื้นที่กลาง เพื่อพัฒนาย่านแห่งนี้ ผ่านการหารือกับชุมชนและภาคีพัฒนาย่าน ทั้งรัฐและเอกชน ตั้งแต่ต้นปี 2564 จนได้แนวคิดการพัฒนาให้ย่านพระโขนงบางนา เป็นย่านที่น่าอยู่สำหรับผู้อยู่อาศัยเดิม และผู้อยู่อาศัยใหม่


ผ่านแนวคิด 11 ด้าน ครอบคลุมทั้งด้านกายภาพ เชิงระบบ และกลไกการบริหารจัดการ โดยเริ่มจากแผนพัฒนาระดับย่านจากการมีส่วนร่วม สู่การเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ เดินได้เดินดี ด้วยพื้นที่สีเขียว ปรับปรุงอาคารเก่า ร่วมกับการพัฒนาพื้นที่ เชื่อมระบบคมนาคม จากโมเดลจตุรภาคี และทดลองจัดทำงบประมาณอย่างมีส่วนร่วม


นวัตกรรมและการสร้างพื้นที่สีเขียวจึงกลายมาเป็นกลไกหนึ่งของการปรับปรุงย่าน โดย เริ่มจากการจัดเก็บข้อมูลพื้นที่ หลังพบว่าปัจจุบันมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าจำนวนมาก ทั้งอาคารถูกทิ้งร้าง ในแนวราบและแนวสูง สังเกตได้ป้ายขายเช่าและเซ้งที่ติดประกาศจำนวนมาก เพราะเมื่อทราบสภาพพื้นที่แล้วย่อมเกิดการจัดการอย่างเป็นระบบที่ดีขึ้น


อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงเวทีความร่วมมือของภาคสังคม ภาครัฐ และเอกชน ที่จัดทำแนวทางพัฒนาย่านพระโขนง-บางนาเท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้ก็ขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยว ที่จะนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ