สังคม
ไทย-ซาอุฯ ลงนามความตกลงด้านแรงงาน คาดไม่เกิน 3 เดือนส่งกลุ่มแรกได้
โดย pattraporn_a
28 มี.ค. 2565
46 views
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงนามความตกลงว่าด้วยการจัดหางาน ครั้งประวัติศาสตร์ กับ ประเทศซาอุดิอาระเบีย คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือนส่งแรงงานกลุ่มแรกมาทำงานในซาอุดิอาระเบีย อย่างถูกกฏหมายครั้งแรกในรอบ 32 ปี โดยแรงงานกลุ่มแรกที่มีความต้องการ มีทั้งกลุ่มก่อสร้าง ธุรกิจโรงแรมการท่องเที่ยว และบุคลากรทางการแพทย์ คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย รายงานจากกรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมลงนามความตกลงด้านแรงงาน 2 ฉบับ ว่าด้วยการจัดหาแรงงานและการจัดหาแรงงานในบ้าน กับ นายอะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม ซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นความตกลงครั้งแรกในรอบ 32 ปีระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบีย
ทางซาอุดิอาระเบีย ยอมรับว่ารอคอยการกลับมาของแรงงานไทย นับจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเยือนซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ทั้ง 2 ประเทศตั้งใจเห็นความร่วมมือด้านแรงงานเกิดขึ้นภายใน 2 เดือน ซึ่งเป็นไปได้จริง และคาดว่าจะเห็นแรงงานไทยกลุ่มแรกเดินทางมาทำงานในซาอุดิอาระเบียบ ภายในไม่เกิน 3 เดือนนี้ ถือเป็นความตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะทำให้การจัดหาแรงงานไทยมายังซาอุดิอาระเบียเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฏหมาย
นายอะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม ซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยว่า นี่เป็นความร่วมมือประวัติศาสตร์ ที่ซาอุดิอาระเบีย คาดหวังว่าจะเห็นแรงงานไทยชุดแรกได้มาทำงานที่นี่เร็วๆนี้ โดยแรงงานที่ต้องการเร่งด่วนจะเป็นภาคการก่อสร้าง เช่น ช่างเชื่อม ช่างเหล็ก รวมถึงแรงงานด้านธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งไทยมีชื่อเสียงด้านแรงงานเหล่านี้มาก และซาอุดิอาระเบีย ยังต้องการแรงงานจำนวนมาก
สำหรับสาระสำคัญของความตกลงด้านแรงงานทั้งสองฉบับนี้ เป็นการกำหนดกระบวนการจัดหางานตามกฎหมายของคู่ภาคีระดับรัฐต่อรัฐ ตั้งแต่การจัดหาจนถึงการส่งกลับประเทศ หากต้องจัดหาแรงงานโดยหน่วยงานจัดส่งที่ได้รับการจดทะเบียนและมีจริยธรรม มีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด ห้ามการหักค่าใช้จ่ายจากการตัดเงินเดือนของแรงงาน และมีการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการคุ้มครองแรงงานที่เคร่งครัด
โดยคำนึงถึงพันธกรณีระหว่างประเทศด้านแรงงานของทั้งสองประเทศ และความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ปกป้องคุ้มครองสิทธิของนายจ้างและแรงงาน ให้มีสัญญาจ้างงานระหว่างกันที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยให้ความสำคัญ และปัจจุบันความต้องการแรงงานจากไทยเปลี่ยนไปจากเมื่อกว่า 30 ปีก่อนที่เน้นงานด้านความเชี่ยวชาญมากขึ้น โดยขณะนี้มีแรงงานไทย สมัครเพื่อมาทำงานที่ซาอุดิอาระเบียแล้วกว่า 1 พันคน
ประเทศซาอุดิอาระเบีย กำลังมีแผนพัฒนา 2030 จึงมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก อย่างเช่นกรุงริยาด กำลังมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ไปเยี่ยมชมไซด์งานก่อสร้างของบริษัท AL BAWANI -CP02 ที่กำลังก่อสร้างศูนย์กลางทางการเงินขนาดใหญ่ ซึ่งมีการจ้างแรงงานกว่า 15,000 คน มาจาก 33 สัญชาติ มีมาตรการูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติ จะมี e-contact program ผ่านการทำสัญญาจ้างอิเล็กทรอนิกส์ รักษาสิทธิของลูกจ้าง และลดความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง และมีข้อริเริ่ม Labor Mobility Initiative ให้แรงงานเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระ เพื่อประสิทธิภาพการแข่งขันในตลาดแรงงาน