สังคม

ย้อนรอยชะตากรรม “โรฮิงญา” บนเส้นทางการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

โดย pattraporn_a

22 มี.ค. 2565

58 views

รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา มาจากการสำรวจจากผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 1 พันคนในบังคลาเทศ และหลักฐานแวดล้อมจากกองทัพเมียนมา ที่ระบุได้ว่าเป็นเจตนาในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ซึ่งข่าว 3 มิติได้เคยลงพื้นที่ทั้งในรัฐยะไข่ของเมียนมา ก่อนเหตุการณ์อาชญากรรมครั้งใหญ่ในปี 2559 จนทำให้ชาวโรฮิงญาต้องลี้ภัยไปยังประเทศบังคลาเทศ ไปติดตามชะตากรรมชาวโรฮิงญา


ชาวโรฮิงญาที่ได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในเมืองค็อกซ์บาซาร์ เป็นส่วนหนึ่งของผู้ได้รับบาดเจ็บ จากเมืองมองดอว์ รัฐยะไข่ของเมียนมา และมีชีวิตรอดลี้ภัยมายังบังคลาเทศ หลายคนมีบาดแผลไฟไหม้ หลายคนมีบาดแผลจากเหตุระเบิด ถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกฟันด้วยมีด อาการสาหัส และจำนวนมากที่เสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตาครอบครัวจากการสังหารของทหารเมียนมา


ข่าว 3 มิติได้ลงพื้นที่ในเดือนกันยายน ปี 2560 หลังเกิดเหตุความรุนแรงในหมู่บ้านชาวโรฮิงญา ซึ่งมีบ้านชาวโรฮิงญาถูกเผามากกว่า 80 จุด พื้นที่กว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ส่งผลให้ชาวโรฮิงญา เกือบ 4 แสนคนต้องลี้ภัยมายังประเทศบังคลาเทศ ทำให้เมืองค็อกซ์บาซาร์ ต้องรองรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเกือบ 1 ล้านคนจนถึงปัจจุบัน


ขณะข่าว 3 มิติลงพื้นที่ชายแดนบังคลาเทศ-เมียนมา เราพบชาวโรฮิงญาที่เพิ่งลี้ภัยมาถึง พวกเขายังอยู่ในภาวะหวาดกลัวจากเสียงปืน เสียงระเบิดที่ต้องหนีตายมาพร้อมสภาพจิตใจที่ต้องสูญเสียครอบครัว ที่บางคนถูกฆ่ายกครัว


คำตอบของชาวโรฮิงญาในเวลานั้น ไม่ต่างจากที่ปรากฏในรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ชี้ให้เห็นถึงเจตนาในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการสังหารโหดที่นับจากวันนั้นเป็นเวลเกือบ 5 ปีแล้วที่ชาวโรฮิงญาต้องลี้ภัยเกือบ 1 ล้านคน ต้องอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และอีกหลายล้านคนอพยพไปหลายประเทศทั่วโลก และส่วนหนึ่งต้องตกเป็นเหยื่อในการค้านมนุษย์ ซึ่งหลายร้อยคนต้องมาจบชีวิตในค่ายกักกันชาวโรฮิงญา ชายแดนประเทศไทยอย่างทีพบในเทือกเขาแก้ว ชายแดนปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา เมื่อปี 2558


เดือนมิถุนายน 2558 ข่าว 3 มิติลงพื้นที่เมืองมองดอว์ รัฐยะไข่ 1 ปีก่อนเกิดเหตุเผาทำลายหมู่บ้านชาวโรฮิงญา ซึ่งปัจจุบันหมู่บ้านเหล่านี้ไม่มีทั้งบ้านและชาวโรฮิงญาหลงเหลืออยู่แล้ว ภาพเหล่านี้จึงน่าจะเป็นหลักฐานของการมีอยู่จริงของชาวโรฮิงญา ที่ในขณะนั้น พวกเขายังอยู่ในสถานะที่ไม่มีสิทธิความเป็นพลเมืองของเมียนมา ไม่มีบัตรประชาชน บ้านที่อาศัยเป็นหมุ่บ้านดั้งเดิม แต่ถูกจำกัดพื้นที่ห้ามออกนอกหมู่บ้าน หรือหากจะออกไปในทำงานในตลาดเมืองมองดอว์ต้องผ่านด่านตรวจ และกลับตามเวลา


ทำให้ชาวโรฮิงญาไม่น้อยต้องลี้ภัยไปก่อนหน้านั้น และตรงกับรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ที่ชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการลดทอนความเป็นมนุษย์ชาวโรฮิงญา ตั้งแต่ปี 2005 ที่ยกเลิกภาษาโรฮิงญา และมีการกวาดล้างชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่ทั้งในปี 2534 และปี 2551 และกฏหมายสัญชาติของเมียนมาปี 1982 ก็กีดกันชาวโรฮิงญาออกจากการเป็นพลเมือง และทำให้ชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธสิทธิทางการเมือง


ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองชายแดนบังคลาเทศ และจำนวนมากที่อยู่ในเมืองชิตตวย เมืองหลวงของ รัฐยะไข่ และมีหลักฐานมากมายที่ยืนยันถึงการเป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่มีสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ แต่หลังเหตุจารจลในปี 2015 ชาวโรฮิงญาก็ถูกกวาดต้อนให้อยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ไม่มีสิทธิ์เข้าอยู่อาศัยในบ้านของตนเองจนถึงทุกวันนี้ และจำนวนมาที่ต้องลี้ภัยในต่างประเทศรอคอยการได้รับคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

คุณอาจสนใจ