สังคม

ผู้ว่าฯ โคราช สั่งปิดกิจการล้างถังสารเคมี 12 ราย พร้อมสืบหาบริษัทต้นตอ

โดย pattraporn_a

15 ก.พ. 2565

70 views

ข่าว 3 มิติ ยังเกาะติดกรณีชาวบ้านซับชุมพล ตำบลหนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 13 ราย ทำกิจการล้างถังที่บรรจุสารเคมี เพื่อนำถังไปขาย แต่ขั้นตอนการล้าง มีสารเคมีปนเปื้อนลงแหล่งน้ำธรรมชาติจนเกิดการร้องเรียน


การลงพื้นที่ของทีมข่าวพบว่ามีผู้ประกิจการนี้มากว่า 20 ปี และเมื่อปี 2556 ก็เคยมีการร้องเรียนเรื่องกลิ่นสารเคมี จนมีข้อตกลงกันห้ามนำถังที่มีสารเคมีอันตรายมาล้างขาย แต่ก็เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีก และล่าสุด ในจำนวน 13 ราย พบว่ามี 1 ราย ที่มีใบประกอบกิจการโรงงาน ทำให้อีก 12 แห่งถูกสั่งปิดชั่วคราว จนกว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องข้อกฎหมาย 


สภาพบ่อซีเมนต์ ที่เจ้าของกิจการล้างถังสารเคมีรายนี้ทำขึ้น อ้างว่าทำตามคำแนะนำ อบต.เพื่อแก้ปัญหากลิ่นเหม็นจากสารเคมีไม่ให้เพื่อนบ้านร้องเรียน เจ้าของกิจการเชื่อว่าน้ำจากสารเคมีทั้งที่อยู่ในถัง หรือโซดาไฟที่ใช้ล้าง จะไหลไปตกตะกอนในบ่อแต่ละบ่อ เมื่อน้ำใส ก็จะใส่จุลินทรีย์ลงไปบำบัดแล้วตักออกไปทิ้ง


ขณะที่อีกราย นอกจากจะมีบ่อซีเมนต์ที่ดักน้ำเป็นทอดๆ ยังพบหนองน้ำขนาดเล็ก อีก2 บ่อ ที่อยู่ปลายทางของบ่อซีเมนต์ หนองน้ำทั้ง 2 มีกลิ่นสารเคมีฉุนรุนแรง


เช่นเดียวกับอีกราย ซึ่งอยู่ใกล้กับ 2 รายแรก แต่มีพื้นที่ตั้งที่กว้างกว้า เครื่องมือและปริมาณถังที่เหลืออยู่มากกว่านี้ โดยทั้ง 3 รายนี้ อยู่ริมคลอง อีสานเขียว ซึ่งเจ้าหน้าที่กังวลใจว่าจะมีความเสี่ยงที่น้ำเสียจะไหลลงคลองอีสานเขียว


บริเวณใกล้กับจุดล้างถัง มีบ่อซีเมนต์ที่เจ้าของกิจการทำขึ้นโดยชี้แจงว่าเพื่อให้น้ำตกตะกอน จากนั้นจะสูบน้ำที่ใสแล้วใส่ถังไปทิ้งที่อื่น



ผลการหารือวันนี้พบว่าใน 13 รายที่ประกอบกิจการ มีเพียง 1 รายที่มีใบอนุญาต รง. 105 คือได้รับอนุญาตประกอบกิจการคัดแยก หรือทำลายวัสดุที่ไม่ใช้ตามบัญชีสิ่งปฎิกูล ของกระทรวงอุตสาหกรรม และใบอนุญาต ร.106 คือคือการรีไซเคิล หรือนำผลิตภัณฑ์ไม่ใช้แล้ว กลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วนอีก 12 ราย ไม่มีใบอนุญาตใดๆ และลักษณะประกอบการในตอนนี้ ก็ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขออนุญาตกิจการโรงงานได้ แต่กลับมีสารเคมีอันตรายที่ใช้ในโรงงานไว้ครอบครอง จึงถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว


ที่จริงแล้วการล้างถังพลาสติกเพื่อขาย ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดตรงที่ถังนั้นบรรจุสารเคมีในอุตสาหกรรมที่กฎหมายควบคุมการครอบครอง เคลื่อนย้าย และกำจัด การนำออกมาขาย หรือครอบครองโดยไม่มีอนุญาตจึงผิดกฎหมาย


ตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังหาข้อเท็จจริงว่าหากในอนาคต ชาวบ้านยังทำอาชีพล้างถัง โดยไม่ใช่ถังที่เคยบรรจุสารเคมี จะมีระเบียบกฎหมายใด ที่จะอนุญาตและควบคุมได้ ขณะเดียวกัน ก็มีการเสนอแนะว่า นอกจากหยุดกิจการดังกล่าวไว้แล้ว ควรเร่งตรวจสุขภาพชาวบ้าน ที่สำรวจว่ามีสารเคมีตกค้างในร่างกาย จากการสัมผัสแหล่งน้ำหรือไม่

คุณอาจสนใจ

Related News