สังคม

เครือข่ายจะนะฯ เตรียมมารายงานตัวคดีบุกทำเนียบ พร้อมทวงถามความคืบหน้า SEA

โดย panwilai_c

22 ม.ค. 2565

40 views

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 37คน เตรียมมารายงานตัวในคดีที่ถูกจับกุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 26 มกราคมนี้ ก่อนจะไปทวงถามความคืบหน้าจาก สภาพัฒน์ฯ ในการจัดทำ SEA ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งครบ 1 เดือนแล้ว โดยนักวิชาการคาดหวังว่า การศึกษา SEA จะทำตามขั้นตอนและกระบวนการมีส่วนร่วมที่โปร่งใส เพื่อไม่ให้เป็นเพียงเสือกระดาษ​หรือเป็นตรายางในการกำหนดนโยบายของรัฐ แต่รัฐควรใช้ SEA เป็นแผนพัฒนาประเทศไทย เพื่อป้องกันความขัดแย้งในโครงการสำคัญ



เรือประมงของชาวบ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทยอยกลับเข้าฝั่ง ท่ามกลางการรอคอยของครอบครัวและแม่ค้า ที่มารอซื้อปลาสดนำไปขายในตลาด หรือชาวบ้านบางคนมารอซื้อถึงเรือ สร้างรายได้ให้กับชาวประมงทันที



อย่างวันนี้ได้กุ้งแชบ๊วยตัวใหญ่ที่ขายได้อย่างน้อย 1,500 บาท หากได้ปู หรือ ปลาก่อนหน้านี้บางวันก้ได้นับหมื่นบาท เป็นเหตุผลที่ชาวจะนะ เห็นว่าหากรัฐพัฒนาให้ตรงจุด ชาวบ้านสามารถมีรายได้ได้มากกว่าการได้ค่าจ้างวันละ 350 บาทจากการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม



นี่จึงเป็นเหตุผลให้เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เสนอให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA-Strategic environment Assessment ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม เพื่อหาทางออกความขัดแย้งในพื้นที่ ที่มากกว่าการมีกลุ่มสนับสนุน แต่โครงการนี้ผลักดันโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอบต.และมีเอกชนเจ้าของที่ดินกว่า 17,000 ไร่ จะได้ประโยชน์ โดยที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมในการเสนอโครงการพัฒนาให้ตรงกับฐานทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งผ่านมากว่า 1 เดือน สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้ประสานงานมายังสถานศึกษาในพื้นที่ ทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยทักษิณ ตามที่ครม.กำหนดไว้แล้ว ซึ่งนักวิชาการ เชื่อว่า หากสภาพัฒน์ กำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการกำกับการศึกษา SEA ได้เหมาะสม ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้ได้รับผลประโยชน์ทับซ้อน sea ก็จะกลายเป็นทางออกที่ดี



แม้กรณีที่จะนะ จะมีจุดเริ่มต้นที่ไม่ถูกต้องตามกรอบการศึกษา sea ที่เป็นการศึกษาว่าควรจะมีแผนการพัฒนาหรือโครงการอะไรที่เหมาะสมกับพื้นที่ แต่กรณีนี้กลับมีโครงการที่จะพัฒนา และมีเพื้นทื่รองรับ มาก่อน จึงต้องทำให้การศึกษา SEA ตอบโจทย์ให้ชัดว่า จะมีการพัฒนาอย่างไรได้บ้าง นอกเหนือจากโครงการที่จัดทำไว้



การศึกษา SEA ต่างจากการศึกษา EAI เพราะ SEA จะเป็นการศึกษาว่าจะพัฒนาพื้นที่นั้นอย่างไรให้ยั่งยืน แต่ EAI จะศึกษาว่าจะทำโครงการต่างๆในพื้นที่นั้นอย่างไรให้กระทบน้อยที่สุด sea จึงเป็นการศึกษาระดับแผนงานและนโยบาย ซึ่งหลักการที่ดี ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่ต้น อย่างโปร่งใส โดยแม้จะตอบไม่ได้ว่าควรทำไม่ควรทำ แต่จะบอกได้ว่าพื้นที่นั้นควรทำอะไรจึงจะเหมาะสมที่สุด



อย่างเช่นในพื้นที่ อำเภอจะนำ จังหวัดสงขลา ก็ต้องศึกษาว่าจะพัฒนาอาชีพประมง อาชีพจากพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง และการต่อยอดอาชีพจากฐานทรัพยากร เช่น นกเขา และสิ่งสำคัญต้องผลักดันให้ sea ได้รับการยอมรับตามกฏหมาย โดยสภาพัฒน์ มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะผลักดันให้มีการยอมรับ SEa ในการจัดทำแผนพัฒนาต่างๆ เพื่อไม่ให้ SEA เป็นเพียงเสือกระดาษ



ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสสิ่งแวดล้อม หรือ enlaw เห็นด้วยว่าขั้นตอนการจัดทำ SEA มีความสำคัญมากรวมถึงคณะกรรมการกำกับการศึกษา ที่ต้องโปร่งใส และอยากเห็นการจัดทำ SEA จะนะ นำไปสู่การจัดทำ SEA ประเทศไทย ที่ควรนำมาเป็นกรอบในการพัฒนาแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสม



ในขณะที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เตรียมเดินทางขึ้นกรุงเทพในวันที่ 26 มกราคม เนื้องจากชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีจะต้องไปรายงานตัว ในวันที่ 27 มกราคม จึงเตรียมไปทวงถามความคืบหน้า SEA จากสภาพัฒน์ เพราะ 1เดือนที่ผ่านมา ยังเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มสนับสนุน ซึ่งตามมติ ครม.ต้องหยุดการดำเนินโครงการต่างๆ ไว้จนกว่้าการศึกษา SEA จะแล้วเสร็จ



ขณะที่นายประสิทธิชัย หนูนวล ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ย้ำเช่นกันว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ sea กลายเป็นตรายางให้กับรัฐ โดยเฉพาะโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่สัมพันธ์กับเจ้าของที่ดิน และที่มาการผลักดันโครงการของรัฐ จึงต้องตั้งคำถามไปยังรัฐบาลถึงการตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ศอบต.รวมถึงที่มาของที่ดินกว่า 17,000 ไร่ของเอกชน ที่กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญว่า การพัฒนาจะเริ่มต้นเพื่อตอบสนองเจ้าของที่ดินหรือประชาชน

คุณอาจสนใจ

Related News