สังคม

สำรวจผลกระทบ หลัง 'อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร' พนังกั้นพัง น้ำทะลักหลายพื้นที่ในโคราช

โดย panwilai_c

30 ก.ย. 2564

35 views

หลายชุมชนในอำเภอโนนสูง และพิมาย ที่อยู่ตามแนวน้ำหลาก ของลำเชียงไกร เร่งเก็บทรัพย์สิน อพยพสัตว์เลี้ยงไปที่ปลอดภัย หลังจากเห็นระดับและปริมาณน้ำที่หลากมาปริมาณมาก โดยปลายทางน้ำก้อนใหญ่ยังตกค้าง ที่อยู่ที่โนนสูง


ทีมข่าวเข้าไปสำรวจในหมู่บ้านสะแทต ตำบลธารปราสาท ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากลำธารปราสาท สาขาของลำเชียงไกร ตอนนี้พื้นที่ทุ่งกว้าง ถูกน้ำท่วมแล้วหลายพันไร่ และกำลังจะเข้าท่วมหมู่บ้าน จึงต้องหาทางป้องกันรักษาทรัพย์สิน


โดยทีมข่าวได้พบเจ้าของบ้านหลังหนึ่ง ที่ตอนนี้ได้ตัดสินอพยพแพะที่มีอยู่ 7 ตัว เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ 2 ตัว ที่อีก 5 ตัวก็เป็นแพะที่เลี้ยงกันมาจนโต พอได้เห็นน้ำที่หลากท่วม เพราะการทะลักลงจากอ่างลำเชียงไกร และจะทะลุมาที่ธารประสาท ก็มั่นใจว่าน้ำจะมาถึงแน่ จึงสร้างคอกแพะสูงประมาณ 70 เซนติเมตร หวังว่าจะรอดได้


นอกจากสัตว์เลี้ยงแล้ว ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ก็ยกขึ้นที่สูงไว้แล้วเช่นกัน เพื่อป้องกันความเสียหาย หรือให้เสียหายน้อยที่สุด ส่วนที่นอน ยังอาศัยชั้นสองของบ้านได้


ส่วนนี่ก็อีกครอบครัวหนึ่งที่เลี้ยงสัตว์ เพราะน้ำที่หลากมา ท่วมคอกเลี้ยงวัวในหมู่บ้าน จนเกรงว่าจะได้รับอันตราย ถูกน้ำพัดไปบ้าง หรือแช่น้ำนานบ้าง จึงต้องอพยพวัวทั้ง 20 ตัว ขึ้นมาอยู่บนที่ดอน จัดที่นอนเฝ้าและจุดกองไฟไล่แมลงไว้ให้ หวังว่าจะรอดพ้นจากน้ำท่วมไปได้ เพราะวัวที่เลี้ยงมีราคาตัวละหลายหมื่น หากนาข้าวเสียหาย ก็ยังมีเลี้ยงสัตว์เป็นทรัพย์สินได้


เราได้เห็นผู้คนท้ายน้ำลำเชียงไกร และลำน้ำสาขาเตรียมพร้อม ก็เพราะจนถึงขณะนี้ผ่านมา 3-4 วันแล้ว ที่น้ำทะลักพังจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร แต่ก็ยังไหลเชี่ยว ซึ่งเห็นได้ชัดที่บ้านลำเชิงไกร ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง ที่ระดับน้ำยังสูง และไหลเชี่ยว


บ่ายวันนี้ ผมขึ้นไปสำรวจระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ที่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานกำลังแก้ปัญหาแนวคัดกันน้ำที่ทะลักลงตอนนี้ พบว่าอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ซึ่งตามความจุแล้ว จะรับน้ำได้ราว 27 ล้านลูกบาศก์เมตร และก่อนที่พนังจะพังลงนั้น มีน้ำสูงสุดถึง กว่า 45 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าเกินความจุไปมาก จนในที่สุดก็พังลง และหากนับจากวันที่น้ำเริ่มทะลักลงในวันที่ 27 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้เหลือน้ำอยู่ในอ่างประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร และแต่ละวัน น้ำก็ไหลออก โดยควบคุมไม่ได้ประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร


ส่วนน้ำที่ไหลเข้า เพราะยังมีน้ำตกค้างใน 3ลำน้ำสำคัญ ก็อยู่ที่ประมาณ 6-7 ล้านลูกบาศ์เมตร คำนวณง่ายๆตอนนี้คือ น้ำไหลเข้าอ่างวันละ 7 ล้าน และไหลออกอ่าง วันละ 10 ล้าน


ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา ระบุว่าแผนงานของเจ้าหน้าที่ตอนนี้ คือเร่งปิดคันดินที่พังลงให้ได้ภายใน 7 วัน และยกเหล็กที่บานประตูชั่วคราวขึ้นก่อน เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลผ่านประตูน้ำได้ ซึ่งจะควบคุม หรือชะลอน้ำไว้ได้ แต่จะไม่ปิดสนิท เพราะอาจมีพายุลูกใหม่มาอีก เนื่องจากยังไม่สิ้นฤดูฝน จึงเท่ากับพร่องน้ำไปในตัวด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News