สังคม

กรมอุตุฯ เตือน 7 จว.อีสาน เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน จากอิทธิพล "โกนเซิน"

โดย pattraporn_a

13 ก.ย. 2564

145 views

พายุดีเปรสชั่น โกนเซิน อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว หลังจากพัดขึ้นชายวั่งเมืองกวางงาย ของเวียดนาม เมื่อเช้าวันนี้ (13 ก.ย.) แต่ก็ยังจะส่งผลให้ 7 จังหวัดภาคอีสาน มีฝนตกหนักและเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันได้


โดย 7 จังหวัดภาคอีสาน ที่จะมีฝนตกหนัก จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นโกนเซิน ซึ่งอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง คือ จังหวัดมุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์


ประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 16 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายของการติดตามสถานการณ์พายุโกนเซิน เตือนให้ 7 จังหวัดดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้


อิทธิพลของพายุโกนเซิน ตลอด 3 วันที่ผ่านมา ทำให้ฝนตกหนักสะสมในหลายจังหวัดภาคอีสานฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะที่อุบลราชธานี ซึ่งเป็นจุดรวมน้ำจากหลายสาขา ก่อนลงสู่แม่น้ำโขง ทำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สนทช. เร่งประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งกำลังคน, เครื่องจักร และแผนการระบาย ทั้งในแม่น้ำชี แม่น้ำยัง และแม่น้ำมูล ป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมหนัก ซ้ำรอยจากอิทธิพลอายุโพดุล และคาจิกิ เมื่อปี 2562


สำหรับน้ำท่วมที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ตอนนี้ในตัวเทศบาลเมืองหล่มสัก คลี่คลายไปหมดแล้ว และมวลน้ำไหลตามแม่น้ำป่าสัก ผ่านตัวเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อลงสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แต่เจ้าหน้าที่ยังต้องเตรียมพร้อมไว้ เพราะยังมีบนตกหนักบนเทือกเขา ในเขตจังหวัดเลย ฝั่งที่ไหลบ่าลงสู่แม่น้ำป่าสัก อาจทำให้ปริมาณน้ำหลากท่วมได้อีก ขณะรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย สั่งเร่งเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่เพชรบูรณ์ และจะลงพื้นที่ติดตามคืบหน้าวันที่ 17 กันยายนนี้


นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่าพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้รวม 4 เขื่อนหลัก คือ 2,882 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 16 ถือว่าน้อยกว่าช่วงเดียวกัน หากเทียบกับปีที่แล้ว และภายในเขื่อนยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีกมาก แต่ยอมรับว่ามีการปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลาง ที่อยู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น จึงระบายน้ำออก โดยปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์วันนี้ อยู่ที่ 1827 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที


และตอนนี้หลายชุมชนริมฝั่งแม้น้ำน้อย ตำบลหัวเวียง อำเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็เริ่มได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำแล้วเช่นกัน พืชสวนเริ่มจมน้ำ ขณะที่ประชาชริมน้ำ เตรียมทำสะพานไม้ชั่วคราว และเรือ เพื่อสัญจรแทนถนนที่มักจะถูกน้ำทว่มเป็นประจำทุกปี


คุณอาจสนใจ

Related News