สังคม

กทม.เร่งช่วยเหลือพระภิกษุ-สามเณร วัดย่านบางนา ติดโควิดเกือบ 200 รูป

โดย pattraporn_a

26 ก.ค. 2564

109 views

วันนี้ (26 ก.ค.) ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ ยังสูงกว่าทุกวันและเป็นจำนวนหลักหมื่นติดต่อกัน เป็นวันที่ 10 แล้ว ส่วนใหญ่เป็นการติดเป็นกลุ่มหรือคลัสเตอร์ ล่าสุดคือกรณีโรงเรียนปริยัติธรรม ย่านบางนาที่พระสงฆ์ และฆราวาสที่เป็นครู ติดเชื้อรวมกว่า 200 คน จึงต้องตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรักษา


ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลสงฆ์ และคลินิกใกล้เคียง เข้าไปดูแลและรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดผ่องพลอยวิริยาราม เขตบางนา ทั้งหมด 202 คน แยกเป็นสามเณร 188 รูป พระภิกษุ 10 รูป ครูที่เป็นฆราวาส 2 คน และแม่บ้านอีก 2 คน ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยอาการอยู่ในระดับสีเขียว


ขณะนี้วัดใช้อาคารเรียนโรงเรียนปริยัติธรรม เป็นโรงพยาบาลสนาม โดยแยกพระสงฆ์และสามเณร 90 รูปที่ไม่พบเชื้อ ให้อาศัยชั้น 4 ส่วนกลุ่มที่ติดเชื้ออาศัยชั้น 2 และ3 ขณะที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ มอบเครื่องวัดออกซิเจน 4 เครื่องให้วัด เพื่อใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น


พระครูวิริยานุวัตร เจ้าอาวาสและผู้อำนวยการโรงเรียนปริยัติธรรม ระบุว่าเดิมภายในวัดถูกใช้เป็นจุดพักคอยของเขตบางนา เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ ตอนนี้จึงประสาน ทีมแพทย์ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นให้ยาสมุนไพร และยาแผนปัจจุบัน หากอาการหนักขึ้น จะนำส่งโรงพยาบาลสงฆ์ทันที พร้อมเตือนว่าขณะนี้มีผู้แอบอ้าง นำชื่อวัดไป ขอรับบริจาค ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่ผู้ที่ต้องการช่วยเหลือสนับสนุน ให้ติดต่อที่วัดได้โดยตรง


ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานคร จัดทีมปฎิบัติการตรวจเชิงรุกหมุนเวียน 6 จุด ใน 6 เขต เพื่อให้ประชาชนไปรับการตรว โดยการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งจะรู้ ผลภายใน 30 นาที หากผลตรวจเป็นลบให้กลับบ้านได้ แต่หากผลตรวจพบว่าติดเชื้อ หรือมีอาการน่าสงสัย ต้องตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ต่อ ณ จุดตรวจเดียวกัน


หากผลตรวจ ATK เป็นบวกในกรณีที่ประเมินว่ารักษาที่บ้านได้ โรงพยาบาล หรือแล็ปอกชน จะส่งข้อมูลให้ สปสช.เพื่อพิจารณาส่งรักษา แต่หากประเมินแล้วรักษาที่บ้านไม่ได้ โรงพยาบาล หรือแล็ปเอกชนจะหาเตียง หรือส่งศูนย์เอราวัณเพื่อรักษา


นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าจะดำเนินการไม่ให้ผลการตรวจจากวิธี RT-PCR เป็นปัญหาต่อการแอทมิดในกรณีที่มีเตียง ซึ่งตอนนี้ผลตรวจ RT-PCR อย่างเร็วที่สุดคือ 2-3 ชั่วโมง จึงสั่งการไปแล้วในกรณีนี้ รวมถึงคนไข้ที่ไม่สามารถแยกกักตัวรักษาที่บ้านได้ แล้วต้องไปศูนย์พักคอยรักษา ผู้ติดเชื้อชุมชน แต่ขอให้แยกโซนและทำ RT-PCR ไปพร้อมๆกัน อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการแพทย์ยอมรับว่า สถานการณ์เตียงคนไข้โดยเฉพาะกลุ่มสีเหลือ และสีแดง อยู่ในภาวะวิกฤติมาก


สอดคล้องกับการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ของโรงพยาบาลหลายแห่งเช่นรามาธิบดี ที่โพสต์ข้อความปิดห้องฉุกเฉินชั่วคราว หลังยอดผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินพบโควิด-19 มากกว่า 20 ราย จนไม่มีเตียงเหลือให้แอดมิด


โดยวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำสถิติใหม่อีก และเป็นวันที่ 10 ติดต่อกันแล้วที่ยอดผู้ป่วยต่อวันสูงเกิน 1 หมื่นคน ยอดวันนี้คือ 15376 คน เสียชีวิต 87 คน มากที่สุด อยู่ในกรุงเทพฯ 40 คน เป็นผู้เสียชีวิตในบ้าน 5 คน ขณะที่ผู้ป่วย ที่รักษาอยู่วันนี้เพิ่มเป็น 167,057 คน อยู่ในโรงพยาบาล 96,038 คน อาการหนัก 4,289 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 967 คน

คุณอาจสนใจ