พระราชสำนัก

ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

โดย chiwatthanai_t

20 ต.ค. 2565

54 views

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน ไปในการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดอรุณราชวราราม


วันนี้ เวลา 16 นาฬิกา 30 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปยังวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช


ซึ่งทรงซื้อที่ดินด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาขึ้นตามโบราณราชประเพณี ว่าต้องมีวัดสำคัญประจำ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2407 ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา


ภายในพระอาราม มีสิ่งสำคัญ อาทิ พระวิหารหลวง , ปาสาณเจดีย์ พระเจดีย์ทรงลังกาก่ออิฐถือปูน , ปราสาทพระไตรปิฎก , พระปรางค์เขมร , พระที่นั่งทรงธรรม และตำหนักสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ มีพระพุทธสิหังคปฏิมากร เป็นพระประธานประจำพระวิหารหลวง โดยประดิษฐานในบุษบกองค์ใหญ่ ใต้ฐานพระบรรจุพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช และในบุษบกองค์เล็ก ทั้ง 3 ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์น้อย , พระศรีศาสดาน้อย และพระพุทธชินราชน้อย


ด้านหน้าบุษบกเหนือรัตนบัลลังก์ เป็นที่ประดิษฐานพระนิรันตรายจำลอง องค์ที่ 14 หนึ่งในสิบแปดองค์ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ อัญเชิญพระพุทธรูปชุดนี้มาประดิษฐาน เมื่อปี 2413 โดยพระนิรันตราย แปลว่า "ปราศจากอันตราย" ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญในรัชกาลที่ 4 และประจำคณะสงฆ์ฝ่ายคณะธรรมยุติกนิกาย ปัจจุบัน วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม มีพระพรหมวัชราจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺทโก) กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์ จำพรรษา 23 รูป


จากนั้น เสด็จออกจากพระอุโบสถไปยังปราสาทพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ในการนี้ ทรงพระสุหร่าย และทรงถือสายสูตรยกพระนพปฏลมหาเศวตฉัตร ขึ้นกางกั้นเหนือพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระบรมรูปฯ


ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น มีขนาดเท่าพระองค์จริง โดยปี 2428 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระอาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญ จากพระที่นั่งอนันตสมาคม มาประดิษฐาน พร้อมฉลองสมโภช เป็นเวลา 7 วัน


และในโอกาสนี้ ทรงเปิดระบบควบคุมการตีระฆังฝรั่งสามใบเถา หอระฆังยอดมงกุฎ ซึ่งทางวัดฯ ร่วมกับกรมศิลปากร จัดโครงการบูรณปฏิสังขรณ์หอระฆังยอดมงกุฎ และหล่อระฆังทดแทนลูกเดิมที่ชำรุด ในโอกาส 150 ปี แห่งการสถาปนาพระอาราม ในปี 2557 รวมทั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 70 ปี ในปี 2559


พร้อมกับนำเทคโนโลยีการตีระฆังแบบอัตโนมัติ ของสหราชอาณาจักรมาประยุกต์ กับระเบียบวิธีการตีระฆังแบบไทย โดยได้รับความร่วมมือในการประดิษฐ์ระบบ จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สำหรับหอระฆังยอดมงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น พร้อมการสถาปนาพระอาราม ในเขตสังฆาวาส และทรงสั่งระฆังมาจากประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2404 ก่อนการสถาปนาพระอาราม 3 ปี


เวลา 17 นาฬิกา 36 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดอรุณราชวราราม ในการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน เป็นวัดที่ 2 โดยสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ "วัดมะกอก" และเปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกัน และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดแจ้ง" เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรี ได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่ มีการขยายเขตพระราชฐาน วัดแจ้งจึงเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา


เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สร้างพระนครใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดจนแล้วเสร็จ และพระราชทานนามว่า "วัดอรุณราชธาราม" ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เสริมพระปรางค์ตามแบบที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชดำริไว้ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ภายในวัดเพิ่มเติม


พร้อมอัญเชิญพระบรมอัฐิ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาประดิษฐานที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานพระอุโบสถ และพระราชทานนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" และเมื่อทรงปฏิสังขรณ์เสร็จ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม" ปัจจุบัน เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร มีพระพรหมวัชรเมธี เป็นเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์ จำพรรษา 111 รูป


จากนั้น เสด็จออกชานหน้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาพระพุทธนฤมิตร (พระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 2) พร้อมกับทรงวางพุ่มดอกไม้ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย