พระราชสำนัก

ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ในหลวง ร.9

โดย chiwatthanai_t

13 ต.ค. 2565

67 views

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


วันนี้เวลา 17.52 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปยังอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


จากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย โดยทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยทศพิธราชธรรม ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ขึ้น


โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ดำเนินการปั้นต้นแบบพระบรมรูป หล่อด้วยโลหะสำริด ขนาด 7 เมตร 70 เซนติเมตร หรือ 4 เท่าครึ่งของพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หันพระพักตร์ไปทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ประดิษฐานเหนือแท่นหินอ่อนผังแปดเหลี่ยม ตามอย่างคติของพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรก แห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


สื่อความหมายว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระบรมเดชานุภาพ มีผู้แทนของปวงชนในแผ่นดินทั่วทั้ง 8 ทิศ ต่างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแผ่นดิน ด้วยความจงรักภักดี พร้อมอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ประดิษฐานด้านหน้าของแท่น รองรับด้วยฐานหินอ่อนรูปทรงแปดเหลี่ยม พร้อมประดับแผ่นคำจารึกหล่อด้วยโลหะสำริด ทั้ง 8 ทิศ ซึ่งได้จารึกพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


รวมทั้งพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย พระราชประวัติ พระราชาผู้ทรงธรรม กลางใจราษฎร์ ปราชญ์ของแผ่นดิน พระภูมินทร์บริบาล นวมินทร์โลกกล่าวขาน สืบสาน รักษา และต่อยอด และบรมราชสดุดี มีแท่นหินอ่อน พร้อมพานพุ่ม ประดับเป็นเครื่องสักการะประกอบทั้ง 4 ทิศ รวมความสูงจากฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ 19.45 เมตร ที่สามารถมองเห็นได้จากทุกมุม นับเป็นหัวใจ และศูนย์กลางของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเปรียบดั่งศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า


ทั้งนี้ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ สร้างขึ้นบนที่ดินเดิมคือ "สนามม้านางเลิ้ง" เป็นที่ดินในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานเพื่อให้เป็นสวนสาธารณะที่ทรงอุทิศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครอบคลุมพื้นที่ 279 ไร่ ออกแบบภูมิสถาปัตย์ตามแบบอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ผ่านองค์ความรู้ เรื่องป่าและน้ำ


ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวน สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของมนุษย์กับธรรมชาติ การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งยังออกแบบให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ หรือแก้มลิงแห่งใหม่ เป็นสถานที่ศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชน นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางเดิน-วิ่ง ทางปั่นจักรยาน สนามออกกำลังกายกลางแจ้ง ลานกิจกรรมและนันทนาการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัย ให้เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ ที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิต ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เป็นปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานคร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567


ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทรงเยี่ยมราษฎรที่ไปรอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ซึ่งต่างพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลือง เปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้อง ด้วยความจงรักภักดี และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ วางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และจะเปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะ ระหว่างวันที่ 14 ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2565