พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ พื้นที่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี

โดย chiwatthanai_t

21 ก.ย. 2565

60 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี


วันนี้ เวลา 09.38 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในการพระราชทานเกียรติบัตรและเข็มที่ระลึก แก่ผู้ที่มีผลงานดีเด่น ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งศอ.บต. ร่วมกับ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คัดเลือกข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และประชาชน ที่ให้ความช่วยเหลือทางราชการ มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 10 กลุ่ม


ในการนี้ ถวายเกียรติบัตร และเข็มที่ระลึกแด่พระสงฆ์ 4 รูป, พระราชทานเกียรติบัตรและเข็มที่ระลึกแก่ผู้ที่มีผลงานดีเด่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2563 และประจำปี 2564 รวม 81 คน แล้วพระราชทานเกียรติบัตรแก่นักเรียนในโครงการสนองแนวพระราชดำริ "ครัวโรงเรียน สู่ครัวบ้าน" ประจำปี 2564 จำนวน 10 คน


โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสกับผู้ได้รับพระราชทานเกียรติบัตรและเข็มที่ระลึก ที่มีความวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติหน้าที่


ปัจจุบัน ศอ.บต. ได้วางกรอบการแก้ปัญหา 3 เรื่อง คือ การพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความกินดีอยู่ดี, การขจัดเงื่อนไขที่อาจส่งผลกระทบต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี สำหรับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ด้วยประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ร่วมบูรณาการการทำงานอย่างเต็มความสามารถ จึงทำให้การพัฒนามีความก้าวหน้าเป็นลำดับ


จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการต่าง ๆ ได้แก่ รถสิริเวชยาน ซึ่ง ศอ.บต.สนับสนุนการผลิต เป็นรถโมบายเคลื่อนที่ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับเด็กพิการ และคนพิการที่อยู่ห่างไกล โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อหมายถึง "รถที่ให้บริการทางการแพทย์อันเป็นมงคล" ปัจจุบันมีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 คัน


ส่วนโครงการสนองแนวพระราชดำริ "ครัวโรงเรียน สู่ครัวบ้าน" เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2560 โดยขยายผลจากโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งนักเรียนที่สนใจ ซึมซับการเรียนรู้ที่ได้จากโรงเรียน สามารถไปทำต่อเนื่องที่บ้าน เป็นแบบอย่างที่ดีให้ชุมชน และขยายไปสู่การสร้างอาชีพได้


เวลา 13.20 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยัง กรมทหารราบที่ 152 ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ในงานวันคล้ายวันสถาปนาค่ายสิรินธร ครบรอบปีที่ 42 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่อค่าย ตามพระนามาภิไธย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดค่ายฯ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2523 ต่อมากองทัพบกได้อนุมัติ ให้เป็นวันสถาปนาค่ายสิรินธร


ทั้งนี้ กรมทหารราบที่ 152 มีภารกิจหลักด้านการทหาร เพื่อความมั่นคงของประเทศ และเพื่อแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงาน ศูนย์ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก ค่ายสิรินธร ซึ่งมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี 2541 เพื่อเป็นอาชีพเสริมให้แก่แม่บ้าน และกำลังพล ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยมีผู้ประกอบการโอทอปจังหวัดปัตตานี เข้ามาถ่ายทอดความรู้ ขั้นตอนการผลิตให้กับสมาชิก 20 คน


ปัจจุบันลายที่ได้รับความนิยม คือ "ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" และลายพื้นเมืองของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ เสื้อผ้า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ส่งจำหน่ายที่ร้านสมาคมแม่บ้านทหารบก กรุงเทพมหานคร โอกาสนี้ ทรงลงสีบนลายผ้าบาติก รูปดอกดาหลา พระราชทานเป็นที่ระลึก


จากนั้น ทรงเยี่ยมสมาชิกกองพันอาสารักษาหมู่บ้านของจังหวัดยะลา ที่ไปเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ แล้วทอดพระเนตร ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการภายในค่ายสิรินธร อาทิ โครงการทหารพันธุ์ดี กรมทหารราบที่ 152 ที่ได้รับพระราชทานแพะพันธุ์แบ็คแบงกอล เพศผู้ 6 ตัว เพศเมีย 6 ตัว ปัจจุบันขยายพันธุ์ได้ 31 ตัว


ส่วนกิจกรรมเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้สร้างโรงเรือนเพาะเห็ด 5 โรง เพื่อเพาะพันธุ์เห็ดเศรษฐกิจ ได้แก่ เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรมดำ และเห็ดขอนดำ และทดลองปลูกกาแฟโรบัสต้า จำนวน 60 ต้น และต้นโกโก้ 62 ต้น ในสวนยางพารา ส่วนโครงการปลูกยางพารา มีพื้นที่ดำเนินการ 40 ไร่ ได้ผลผลิตน้ำยางวันละ 180 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังทดลองปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว และพันธุ์พื้นเมือง จำนวน 300 ต้นด้วย


ขณะที่โครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายพระยาเดชานุชิต กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 152 ดำเนินงานเมื่อปี 2563 แบ่งเป็นด้านเกษตร 12 ไร่ ด้านปศุสัตว์ 35 ไร่ นำผลผลิตที่ได้ประกอบอาหารให้กำลังพล และแจกจ่ายให้กับกำลังพล และชุมชนรอบค่าย โดยมีหน่วยงานในพื้นที่เข้ามาศึกษาดูงาน และขยายผลโครงการสู่โรงเรียนในพื้นที่ อาทิ การทำเกษตร การเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา การปลูกผัก ทำให้มีวัตถุดิบไว้สำหรับประกอบอาหารกลางวัน


โอกาสนี้ ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กค่ายสิรินธร ซึ่งด้านโภชนาการ มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยตรวจสอบ แนะนำอาหารปลอดภัย และมีคุณค่า ให้เด็กรับประทานครบ 5 หมู่ ในการนี้ พระราชทานอุปกรณ์การเรียน แก่ตัวแทนนักเรียน ปัจจุบันมีเด็กอายุ 2 ถึง 4 ปี อยู่ในความดูแล 23 คน โดยปี 2565 ได้รับรางวัล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ผลิตสื่อสร้างสรรค์ จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้